svasdssvasds

ยก"ร.9"ทรงเป็น "นักนิติศาสตร์" อย่างแท้จริง 

ยก"ร.9"ทรงเป็น "นักนิติศาสตร์" อย่างแท้จริง 

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th


สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผู้อบรมหลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง” รุ่นที่ 21 จัดกิจกรรมวิชาการพิเศษภายใต้โครงการสัมมนาสาธารณะเรื่อง“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับหลักนิติธรรม” 

ยก"ร.9"ทรงเป็น "นักนิติศาสตร์" อย่างแท้จริง  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

วันที่ 4 ส.ค.60-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวพระราชดำริด้านหลักนิติธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ใจความตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักนิติศาสตร์อย่างแท้จริง ทรงงานในทางกฎหมาย ทรงทำการบ้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากในการเป็นนักนิติศาสตร์ได้ทรงใช้หลักนิติธรรม โดยใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม หากยืดหยุ่นและนำความเป็นธรรมใส่ไปได้ให้ใส่เข้าไป 

รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาว่า  ยกตัวอย่าง รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยเสนอออกกฎหมาย โดยมีข้อความด้วยความมุ่งหมายที่จะเฉลิมพระเกียรติติดไปในกฎหมายว่า ให้มีการจารึกในเหรียญเฉลิมพระเกียรติว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช "   เมื่อถวายขึ้นไป พระองค์ท่านทรงส่งพระราชเลขานุการมาหารัฐบาลเพื่อนำกระแสรับสั่งว่า ทรงไม่ลงพระปรมาภิไธย เพราะหากลงพระปรมาภิไธยเท่ากับสถาปนาพระองค์เองเป็นมหาราช ซึ่งคำว่ามหาราช เป็นคำไว้ให้ผู้อื่นเรียก แต่จะไม่ทรงเรียกพระองค์เอง และจบด้วยกระแสรับสั่งว่า "ตรงนี้คือหลัก" 

            

รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาว่า นอกจากนี้ มีร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่าง ในกฎหมายมีข้อความว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช้กับบุคลดังต่อไปนี้ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ด้วย เมื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้โปรดเกล้าฯให้องคมนตรีท่านหนึ่งมาแจ้งว่า ถ้ามีข้อความนี้อย่าทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะจะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย จะยกเว้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเอาออก แต่หากจะมีเจตนาจะยกเว้นพระมหากษัตริย์ต้องไปเขียนอย่างอื่น ไม่ใช่โจ่งแจ้งแบบนี้ 

           

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากนั้นมีการสัมมนาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับหลักนิติธรรม” โดยนายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ครั้งเกิดวิกฤตตุลาการเมื่อปี 2534 ขณะที่ตนดำรงตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกา เนื่องจากผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยกับรมว.ยุติธรรมขณะนั้น ที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เพราะจะเป็นการถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารต่อมาผู้พิพากษาที่เป็นแกนนำคัดค้านได้ถูกไล่ออก  

"เราจึงต้องพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากการที่จะให้ตุลาการออกหรือไม่ออกจากราชการต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จึงได้ทำหนังสือกราบบังคับทูลว่า การที่ข้าพเจ้าคัดค้านรมว.ยุติธรรม ไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่เป็นเรื่องความคิดที่ไม่ตรงกัน เราไม่เห็นด้วยที่จะมีการมาแทรกแซงตุลาการ  

ที่สุดได้มีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่าเนื่องจากเป็นความขัดแย้งกันในทางความคิด ไม่ใช่ความผิดทางวินัย จึงยังโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งต่อไป  กระทรวงยุติธรรมจึงต้องออกคำสั่งเพื่อถอนคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งจะเห็นว่า พระองค์ทรงใช้หลักนิติธรรมอย่างไรในการปกครองบ้านเมือง นอกจากนี้ พระองค์ท่านเคยตรัสกับผู้พิพากษา ไม่ใช่เฉพาะผู้พิพากษาที่เข้าถวายสัตย์เท่านั้น แต่ทรงสัญญาณเตือนผู้พิพากษาทุกคนว่า จะต้องมีความยั้งคิดตามหลักนิติธรรม อย่าใช้หลักยุติธรรมเฉพาะผู้พิพากษาในศาลเท่านั้น แต่ในฐานะผู้มีความรู้ ต้องมีเหตุผล และรู้จักจิตใจคนด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า ถ้าเรายึดหลักนิติธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก"นายวิชากล่าว 

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักนิติธรรมในห้วงนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและทันสมัย โลกทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ เป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติระหว่างปี 2015 – 2030 ก็ระบุเรื่องหลักนิติธรรมเอาไว้ 1 ใน 17 ข้อ หากศึกษาอย่างละเอียดจะเห็นว่า ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ การใช้หลักนิติธรรมของพระองค์ท่านจะมาจากที่ทรงพบด้วยพระองค์เองระหว่างลงเยี่ยมเยียนราษฎร ซึ่งพระองค์เข้าใจหลักนิติธรรมอย่างถ่องแท้  

related