svasdssvasds

"เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ" พระราชทานปริญญา ดร.รอยล

"เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ" พระราชทานปริญญา ดร.รอยล

นายรอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ฯ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีผลงานและเกียรติประวัติด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอันดับต้นของประเทศไทย

บ่ายวันนี้ (25 ตค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาการคอมพิวเตอร์) แก่ นายรอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพิธีพระราช ทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

นายรอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เป็นผู้มีผลงานและเกียรติประวัติด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอันดับต้นของประเทศไทย เป็นผู้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โดยริเริ่มดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Weather 901 เพื่อส่งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทรงติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และทิศทางลมได้ตลอดเวลา ซึ่งพระองค์ท่านทรงใช้ข้อมูลเหล่านี้ ให้รัฐบาลและกรมชลประทานเตรียมวางแผนรับมือช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบัน ระบบ Weather 901 ได้พัฒนาเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” และเปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application ชื่อ ThaiWater เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา

นอกจากนี้ นายรอยล จิตรดอน ยังดำเนินโครงการตามแนวพระราช ดำริในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดหลักสำคัญ คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กันไปในการพัฒนาพื้นที่ในเขตชลประทาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และพัฒนาโครงสร้างขนาดเล็กจัดการน้ำของชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยยุทธศาสตร์และมาตรการที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำมาบูรณาการการพัฒนา ทั้งด้านน้ำ การเกษตร และพลังงาน ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดความสมดุล นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยหลักการ เข้าใจชุมชน เข้าใจธรรมชาติและมีแนวคิดในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน อันเป็นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศอย่างแท้จริง

related