svasdssvasds

ส.ส.อนาคตใหม่ จับสังเกต 2 กรม 2 กระทรวง ตั้งโครงการซ้ำกัน

ส.ส.อนาคตใหม่ จับสังเกต 2 กรม 2 กระทรวง ตั้งโครงการซ้ำกัน

ส.ส.อนาคตใหม่ จับสังเกต 2 กรม 2 กระทรวง ตั้งโครงการสร้างเขื่อนหินกั้นน้ำทะเลที่จ.สงขลาซ้ำกัน ให้ฉายา "ร่างงบฯ63 ฉบับหอมหวาน ไม่รอบคอบ" ด้าน “อนุพงษ์” ขอรับปมท้วงติงไปตรวจสอบ

วันที่ 19 ต.ค. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่  ท้วงติงต่อการตั้งงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยที่ทำงบผูกพันถึงปี 2565

ซึ่งเน้นการสร้างเขื่อนหรือกองหินกันคลื่น ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2554 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่าวิธีดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้ และเป็นการซ้ำเติมปัญหา ขณะเดียวกันการทำเขื่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยทำผลสำรวจว่าด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังพบบางโครงการได้เปลี่ยนชื่อเพื่อเลี่ยงบาลี เช่น การปรับภูมิทัศน์ แต่พบการสร้างเขื่อนหิน จนทำให้ชายหาดสวยงามถูกทำลาย เช่น พื้นที่อ.เกาะลันตา จ.กระบี่,หาดเจ้าไหม จ.ตรัง

“งบประมาณที่ตั้ง พบการใช้งบแบบก้าวกระโดด ผมขอตั้งฉายาในการจัดทำงบประมาณว่า ฉบับหอมหวานแบบคาหนังคาเขา ไม่รอบคอบ ไม่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงบสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลกันเซาะที่ 11 ปี เพิ่มขึ้น 17 เท่า หน่วยงานที่ตั้งงบประมาณยังพบความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะปี 2563 ที่ 2 กรมจาก 2 กระทรวง เตรียมทำโครงการสร้างเขื่อนหินที่ ต.ชิงโค อ.สิงหนคร จ.สงขลา”นายประเสริฐพงษ์ อภิปราย

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงต่องบประมาณเพื่อป้องกันน้ำกันเซาะชายฝั่ง โดยยอมรับว่ามีหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหา ล่าสุดเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ของประชาชนและราชการเสียหายจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจด้วยการใช้การรังวัด เพื่อหาพื้นที่ที่แน่นอน ทั้งนี้ในการเข้าไปดำเนินการแก้ไขคือเป็นพื้นที่ที่ประชาชนร้องขอ แบบไม่หวงกัน

ส่วนการจะสร้างเขื่อนตามที่ส.ส.อภิปราย และถกเถียงว่าจะสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็ง อาทิ คอนกรีต, หินทิ้ง หรือ จะใช้เขื่อนที่ทำจากไม้ไผ่ ทั้งนี้จากกรณีที่ตนได้พิจารณา พบว่าเขื่อนบางอย่างเหมาะสมกับบางพื้นที่ เช่น เขื่อนไม้ไผ่ปัก สามารถใช้ในพื้นที่ป่าชายเลน น้ำท่วมขังตลอดเวลา เพื่อให้เกิดตะกอนดินและมีผืนดินงอกใหม่ เช่น พื้นที่ที่ปากพนัง เป็นต้น

ขณะที่เขื่อนซึ่งใช้ไม้ไผ่แม้จะมีราคาถูกแต่มีอายุการใช้งานสั้น และบางพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดินหายไปจำนวนมาก ดังนั้นอาจต้องใช้เขื่อนที่โครงสร้างแข็ง ส่วนที่ทักท้วงเรื่องงบประมาณนั้น หากงบประมาณผ่านการพิจารณา จะต้องปรึกษากับหน่วยงานที่มีความรู้ และเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ ขณะที่เรื่องความไม่โปร่งใส ตามที่ระบุว่า 17 ปี พบยอด 30 เท่านั้น จะขอตรวจสอบข้อเท็จจริงรวมถึงการใช้งบประมาณด้วย

related