svasdssvasds

โฆษกก้าวไกล แนะ โยกงบเกณฑ์ทหาร ซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ กว่า 7.8 หมื่นล้าน มารับมือโควิด-19

โฆษกก้าวไกล แนะ โยกงบเกณฑ์ทหาร ซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ กว่า 7.8 หมื่นล้าน มารับมือโควิด-19

นายวิโรจน์ โฆษกพรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาล โยกงบเกณฑ์ทหาร งบการสัมมนาฝึกอบรม การจัดอีเว้นต์ต่างๆ และงบซื้อเรือดำน้ำ อาวุธ ที่รวมแล้วกว่า 7.8 หมื่นล้าน มาแก้วิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เสนอแนะโยกงบประมาณเกณฑ์ทหาร อีเว้นต์ อบรมสัมนา งบซื้อเรือดำน้ำ และอาวุธ รวมแล้ว 78,500 หมื่นล้านบาท มาแก้วิกฤตโควิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเตรียมงบประมาณเอาไว้เยียวยาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในระดับ 1.5 - 2 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะใช้วิธีการ ออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กู้เงิน เบื้องต้นรัฐบาลควรพิจารณาใช้มาตรา 35 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ในการโอนงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จากหน่วยรับงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ มาให้กับหน่วยรับงบประมาณ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำภารกิจด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน

โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย และแรงงานนอกระบบ (คนไทยที่ทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม) ที่จนถึงวันนี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาอย่างชัดเจน

โฆษกก้าวไกล แนะ โยกงบเกณฑ์ทหาร ซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ กว่า 7.8 หมื่นล้าน มารับมือโควิด-19

สำหรับการโอนงบประมาณนั้น เบื้องต้นเท่าที่ประเมินในระยะเวลาอันจำกัด งบประมาณที่โอนมาได้เลย คือ งบประมาณซึ่งด้วยการระบาดของโรค ก็คงไม่มีทางที่จะสามารถใช้งบประมาณได้ นั่นก็คือ

1) งบประมาณในการเกณฑ์ทหาร ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หากยังคงตรวจคัดเลือกเกณฑ์ทหารกองประจำการจำนวน 100,000 นาย โดยประมาณ ก็เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่การระบาดของโรคจะลามเข้าไปยังค่ายทหาร แม้แต่พลทหารบริการ ที่ไปทำงานบริการที่บ้านนายพล หรือบ้านนายพลเกษียณ ก็อาจจะทำให้นายพล และครอบครัวของนายพลติดเชื้อโควิด-19 ไปด้วย

ดังนั้น งบประมาณในส่วนนี้ที่ตั้งไว้สูงถึง 1.49 หมื่นล้านบาท หากยกเว้นการเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ.2563 และใช้ระบบอาสาสมัคร เพื่อเชิญชวนให้กำลังพลส่วนหนึ่งที่กำลังจะปลดประจำการ อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพื่อคงสภาพของกองทัพเอาไว้ ก็น่าจะโอนงบประมาณในส่วนนี้มาได้ 1 หมื่นล้านบาท

2) งบดำเนินงาน 237,351.3 ล้านบาท ประเมินเบื้องต้นว่า ค่าใช้จ่ายในการสัมมนาฝึกอบรม และการจัดอีเว้นต์ต่างๆ น่าจะอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 20 - 25 ของงบดำเนินงาน หรือประมาณ 47,000 - 59,000 ล้านบาท หากประเมินว่ามีการเบิกจ่ายไปพลางก่อนแล้วร้อยละ 40 ก็ยังเหลืองบประมาณในส่วนนี้อีก 28,000 - 35,000 ล้านบาท

ซึ่งด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ ได้ ผมจึงคิดว่า รัฐบาลควรกลับไปทำการบ้าน เพื่อลงรายละเอียดในการดึงเอางบประมาณส่วนนี้ มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 อย่างมีเอกภาพ ซึ่งเบื้องต้นผมเชื่อว่าน่าจะโอนมาได้ในระดับ 3 หมื่นล้านบาท

3) จากข่าวทหารเรือเดินทางจากอู่ฮั่นกลับไทย ทำให้ทราบว่า อู่ต่อเรือดำน้ำนั้นอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดอย่างนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่คู่สัญญา จะไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำตามเฟสงานที่กำหนด

ดังนั้นงบประมาณผูกพันสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำลำอีก 2 ลำที่ผูกพันเอาไว้ 2.25 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนออกไปก่อน

และหากพิจารณางบประมาณในการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ของกองทัพร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น รถยานเกราะสไตรเกอร์ล็อตที่ 2 ปืนใหญ่ และเครื่องบินรบต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมๆ กันแล้วประมาณ 16,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเรือดำน้ำ ก็จะมีมูลค่าสูงถึง 38,500 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วน ก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กองทัพน่าจะยินดีที่จะเสียสละ และพร้อมให้โอนงบประมาณส่วนนี้มาช่วยเหลือประชาชนก่อน

โฆษกก้าวไกล แนะ โยกงบเกณฑ์ทหาร ซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ กว่า 7.8 หมื่นล้าน มารับมือโควิด-19

ดังนั้น หากรัฐบาลทำการบ้านเพื่อลงรายละเอียด และออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยโยกเอางบที่ไม่มีความจำเป็นในการเบิกจ่าย หรือไม่เหมาะกับสถานการณ์ในการเบิกจ่าย หรือไม่มีศักยภาพในการเบิกจ่าย เพื่อมาใช้ในภารกิจด้านการสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีศักยภาพในการป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่

และอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง ก็คือ การเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งช่วยเหลือที่ประชาชนตัวเล็กตัวน้อย และแรงงานนอกระบบในลำดับแรกก่อน เบื้องต้น น่าจะสามารถโอนงบประมาณออกมาได้

10,000 ล้าน (เกณฑ์ทหาร) + 30,000 ล้าน (อบรม สัมมนา และอีเว้นต์) + 38,500 ล้าน (เรือดำน้ำ รถยานเกราะสไตรเกอร์ และอาวุธต่างๆ)

= 78,500 ล้านบาท

และถ้าพิจารณาโอนงบประมาณด้านการจัดจ้างที่ปรึกษา ในโครงการที่มีเหตุให้ล่าช้า หรือต้องชะลอออกไปก่อน ด้วยสถานการณ์โรคระบาดมาด้วยอีกทาง ผมเชื่อว่า รัฐบาลสามารถโอนงบประมาณต่างๆ ที่ยังมีความจำเป็นต่ำกว่าเหล่านี้ มาใช้ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท

หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้ เช่น 150,000 ล้านบาท หรือ 200,000 ล้านบาท รัฐบาลก็สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 70,000 - 120,000 ล้านบาทได้

แต่เบื้องต้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้เลยก็คือ การออก พ.ร.บ. โอนเงินงบประมาณ มาใช้ในการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บ และใช้เยียวยาประชาชนก่อนครับ 80,000 ล้านบาท น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้า 80,000 ล้านบาท มันตึงเกินไปจริงๆ ผมว่า สัก 5 - 6 หมื่นล้าน นี่ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงนะครับ

ในมุมกลับกัน ผมเชื่อว่าถ้าสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ช่วยกันทำการบ้าน เจาะงบประมาณในหน่วยรับงบประมาณต่างๆ อย่างละเอียดจริงๆ ว่าอะไรไม่จำเป็นต้องใช้ อะไรไม่เหมาะกับสถานการณ์แล้ว อะไรมีเหตุให้จำต้องเลื่อนออกไป ทั้งงบดำเนินงาน งบลับ งบลงทุนที่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ (ที่ไม่ใช่งบลงทุนเพื่อการพัฒนา) เอาจริงๆ ถ้าเน้นเจาะทุกบรรทัด เผลอๆ ผมคิดว่าอาจจะโอนได้ถึง 100,000 ล้านบาทด้วยซ้ำครับ

อย่างที่ผมย้ำมาโดยตลอดในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ว่า อะไรที่จำเป็นถ้าต้องใช้เป็นหมื่นล้าน แสนล้าน ก็ต้องใช้ ไม่จำเป็นต้องตัดงบประมาณแม้แต่บาทเดียว แต่อะไรที่ไม่จำเป็น แม้แต่บาทเดียว ก็ไม่สมควรต้องให้

related