svasdssvasds

"เปลี่ยนค่าจ้าง" จากเงินบำรุงเป็น "งบประมาณ" อยู่นอกเหนืออำนาจ สธ.

"เปลี่ยนค่าจ้าง" จากเงินบำรุงเป็น "งบประมาณ" อยู่นอกเหนืออำนาจ สธ.

โฆษก สธ.เผยเปลี่ยนค่าจ้างจากเงินบำรุงเป็นงบประมาณ อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากทุกฝ่าย ดำเนินการให้ได้ข้อสรุปในเวลากำหนด

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า ตัวแทนลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมา พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ได้มายื่นข้อเสนอให้ดำเนินการ ใน 3 ประเด็น คือให้ปรับการจ้างด้วยเงินงบประมาณแทนเงินบำรุง ปรับปรุงด้านสวัสดิการและความก้าวหน้า และขอให้ตั้งคณะกรรมการกลางดำเนินการ ให้ได้ข้อสรุปภายในเวลาที่กำหนด

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด โดยมอบหมายให้ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขดูแล  ซึ่งได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับตัวแทนลูกจ้างกลุ่มนี้ใน 12 เขตมาอย่างต่อเนื่อง ในหลายข้อเรียกร้องได้รับการแก้ไข อาทิ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน บางแห่งอาจเกิดจากวิธีสื่อสารไม่ตรงกันจึงทำให้วิธีปฏิบัติต่างกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะทำการแก้ไขในส่วนที่มีปัญหาเป็นจุดๆ ซึ่งในกรอบหลักใหญ่ได้มีการแก้ไขปัญหากันไปแล้ว ส่วนเรื่องขอให้มีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน ได้มีประชุมคณะทำงานที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ ขอให้ตัวแทนเข้าใจและมาร่วมปรึกษาหารือกัน

สำหรับเรื่องการจ้างเงินเดือนให้เข้าสู่ระบบงบประมาณนั้น ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเช่นกัน ขณะนี้หน่วยงานรัฐไม่มีการจ้างลูกจ้างด้วยเงินงบประมาณ ยกเว้น ในสถานทูตต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่ขอทำความตกลงกับ กพ. และกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรที่ดูแลพี่น้องประชาชนเกือบ 400,000 คนทั่วประเทศ วิชาชีพก็หลากหลายมากกว่า 68 สาขา ใช้เงินบำรุงจ้างงานทั่วประเทศปีละหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งการจ้างงานแต่ละสาขาก็จะมีข้อพิจารณาแตกต่างกัน อาจจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจตรงกัน ซึ่งได้เชิญตัวแทนหรือกลุ่มต่างๆ มาปรึกษาหารือกัน โดยหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ คือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ กพ. กับสำนักงบประมาณ เป็นต้น และอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุขที่จะดำเนินการได้เอง

“การปรับค่าจ้างเงินเดือนที่เป็นเงินบำรุงไปสู่เงินงบประมาณนั้น เนื่องจากผู้มาเรียกร้องมีความห่วงใย ว่าเงินบำรุงของโรงพยาบาลจะไม่เพียงพอในการจ้าง  อาจมีผลกระทบด้านความมั่นคงในอาชีพ แต่การจ้างงานเช่นนี้ ก็เหมือนกับกระทรวงอื่นๆ  และถ้าเป็นเงินบำรุงหมดจะทำอย่างไร นอกจากกระทบเงินเดือนของเขาแล้วจะส่งผลกระทบต่อการจัดบริการประชาชนหรือไม่  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนัก และได้แก้ไขระเบียบเงินบำรุง เช่น     ผู้บริจาคให้โรงพยาบาลได้ลดหย่อนภาษี  การนำเงินบำรุงมาจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทางกลุ่มผู้เรียกร้องสบายใจ ได้ประสานงานกับรัฐบาล ให้มีผู้แทนรับเรื่องไว้” นายแพทย์โอภาสกล่าว

ในส่วนเรื่องค่าจ้าง ที่มีบางแห่งจ้างต่ำกว่าค่าแรงขึ้นต่ำของประเทศและต่ำกว่าแรงงานต่างด้าวนั้น  ระเบียบนั้นเป็นกฎหมายของกระทรวงแรงงานฯ  ส่วนนี้เป็นการจ้างงานของภาครัฐ  แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ทำการปรับค่าแรงเป็นระยะ ๆ แต่หากโรงพยาบาลใดยังไม่ได้ดำเนินการ สามารถแจ้งมาได้เพื่อจะได้ไปตรวจสอบและจัดการให้ถูกต้องตามระเบียบต่อไป

related