svasdssvasds

อย. ดึง 3 เพจดัง ร่วมแคมเปญ "เช็ค ชัวร์ แชร์" ลดปัญหาแชร์ข้อมูลผิด ๆ

อย. ดึง 3 เพจดัง ร่วมแคมเปญ "เช็ค ชัวร์ แชร์" ลดปัญหาแชร์ข้อมูลผิด ๆ

อย. ดึง 3 เพจดัง เพจ Drama-addict เพจหมอแล็บแพนด้า และเพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ร่วมรณรงค์ "เช็ค ชัวร์ แชร์" ลดปัญหาแชร์ข้อมูลผิด ๆ เดินหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค

นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีการส่งต่อข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาโรคผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียอย่างมากมาย เช่น ยาพาราเซตามอลปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาชูโป้ น้ำว่านหางจระเข้รักษาโรคจากเชื้อไวรัสอีโบล่า หรือยังพบยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งข้อความเหล่านี้ล้วนเป็นข้อความที่เป็นเท็จ ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านทางโซเชียลมีเดียสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยผู้บริโภค จึงได้จัดทำแคมเปญ “เช็ค ชัวร์ แชร์”ผ่านเว็บไซต์ sure.oryor.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาโรคที่ส่งต่อกันทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างละเอียดรอบคอบ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูล เช็คความน่าเชื่อถือ เช็คความถูกต้อง ให้ชัวร์ก่อน  ที่จะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลให้กับสังคม ได้ที่เว็บไซต์sure.oryor.com

ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าว อย. ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเฟซบุ๊กที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทาง สื่อโซเชียลมีเดีย (Influencer) และเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้บริโภค ได้แก่ เพจ Drama-addict เพจหมอแล็บแพนด้า และเพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ มาร่วมรณรงค์ในแคมเปญนี้

นอกจากนี้  ยังได้รับความร่วมมือจากเพจดังอีกมากมาย อาทิ Jones Salad พบหมอแมว เจอหมีให้ออกกำลังกาย กินดีอยู่ดี    หมอยาพาสวย สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แหม่มโพธิ์ดำ จบข่าว ใกล้มิตรชิดหมอ หมอตุ๊ด Lovefitt บันทึกของตุ๊ด    เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว และชุมชนคนท้องถิ่น  มาร่วมสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า เว็บไซต์ sure.oryor.com จะช่วยลดปัญหาความเชื่อ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ และรักษาโรค ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านสุขภาพ    และเสียเงิน เสียเวลา รวมถึงเสียโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย และคอนแทคเลนส์ ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือ www.oryor.com หรือ Oryor Smart Application และหากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์[email protected] หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

 

related