svasdssvasds

แจงปัญหา "ล่อซื้อ-จับกุม" ค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แจงปัญหา "ล่อซื้อ-จับกุม" ค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 เวลา 08.30 น. ณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้เผยถึงปัญหาการค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเคลื่อนไหวด้านการคุ้มครองสิทธิผู้ประกอบอาชีพบริการ จัดเสวนาปัญหาการค้ามนุษย์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการล่อซื้อ-จับกุม ซึ่งมีทั้งการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การเสวนาข้างต้นได้มีประเด็นที่ว่า แม้รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์และค้าประเวณี แต่ผู้หญิงที่ถูกจับในคดีค้าประเวณี กลับไม่ได้รับการปกป้อง และมักจะถูก 'ละเมิดซ้ำ' จากกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การบุกจับกุมโดยวิธีการ 'ล่อซื้อ’ ทั้งที่อาจเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับการค้าประเวณี ซึ่งในระดับสากลถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ตัวแทนของรัฐบาลไทยเคยยืนยันในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2560 ว่า "ไทยไม่มีนโยบายล่อซื้อ" และมองว่าประเทศไทยมีบทลงโทษการค้าประเวณี แต่กลับมีสถานบริการต่าง ๆ จนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การบุกจับกุมในคดีค้าประเวณีในไทย เป็นการดำเนินการที่มีอคติกับผู้หญิงค้าประเวณี เพราะผู้ชายที่เป็นผู้ซื้อได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้หญิงกลับถูกคลุมโม่ง นอกจากนี้ การจับกุมตัวบางกรณีมีการเปิดเผยตัวตน ทำให้ได้รับผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคม ถูกตัดขาดไม่ให้ติดต่อกับครอบครัว หรือถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานหลายเดือน โดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้ถูกควบคุมตัวที่ขายบริการโดยสมัครใจ โดยเฉพาะชาวเมียนมาและลาว ถูกส่งตัวไปห้องกักขังของ ตม. ซึ่งมีสภาพแออัด เมื่อเจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ

อีกทั้ง ยังกล่าวถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอ (CEDAW) ซึ่งทางการไทยได้ให้สัตยาบันไว้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุให้แต่ละประเทศ 'ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี' และให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจ เช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่นๆ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับผู้ขายบริการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ 

มาตรการเชิงรุก เน้นหนักในเรื่องการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกล่อลวงสู่การค้าประเวณี โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมและฝึกอบรมวิชาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ และสร้างกลุ่มอาชีพ ตลอดจนให้แนวทางองค์ความรู้ทางการตลาด การจัดจำหน่าย โดยการสานฝันกลุ่มเหล่านั้นด้วยร้าน “ทอฝัน” เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

มาตรการเชิงรับ ใช้หลักการอาชีวบำบัดสำหรับกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีแล้ว เพื่อฝึกอบรมให้ทักษะทั้งทางกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตในสังคมภายหลังที่ได้กลับคืนภูมิลำเนาโดยมุ่งหมายมิให้หวนคืนกลับไปสู่การค้าประเวณี โดยเฉพาะผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องให้การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษและให้ความรู้ทักษะในการดำรงชีพ เพื่อคืนกลับสังคมได้

  

related