svasdssvasds

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

เทศบาลเมืองน่าน เห็นความสำคัญ ต่อโภชนาการเกี่ยวกับอาหารกลางวันเด็ก จึงดำเนินการ จ้างนักโภชนาการท้องถิ่น เข้ามาดูแล ควบคุมการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนให้มีคุณภาพ

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ตระหนักถึงปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับโภชนาการในเด็ก ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย และสติปัญญา ซึ่งจะทำให้สุขภาพเด็กไม่ดี เกิดภาวะอ้วน เตี้ย หรือผอม แคระแกร็น ประกอบกับ เรื่องกระแสข่าว ที่เด็กวัย 2-3 ขวบ ไปจนถึงเด็กประถม ซึ่งยังเป็นวัยที่จัดหาอาหารรับประทานเองไม่ได้ แต่กลับได้รับอาหารกลางวันที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ขนมจีนคลุกน้ำปลา ทำให้มองเห็นความจำเป็นที่ต้องสร้างพฤติกรรมให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าไม่ให้ติดกับความเคยชินในวัฒนธรรมการกินอย่างไร้คุณภาพ จึงมีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ด้วยการ จ้างบุคลากรที่จบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มาเป็น “นักโภชนาการท้องถิ่น” เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้ทั้งด้านโภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร-สิ่งแวดล้อม แก่ครู แม่ครัว ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดเทศบาล และโรงเรียนในสังกัดอื่นแต่อยู่ในพื้นที่ และหวังว่า เด็กจะได้รับอาหารปลอดภัยจากสารเคมี มีคุณค่าครบ 5 หมู่อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน สังคม

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

พร้อมดำเนินการ เชื่อมต่อกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีการจัดโปรแกรม Thai school lunch ช่วยคำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ภายใต้การดูแลเฝ้าระวังของนักโภชนาการท้องถิ่น โดยโปรแกรมนี้ จะช่วยคุณครูที่ไม่ค่อยมีเวลามาศึกษาอาหารและโภชนาการ ก็จะกำหนดให้เสร็จว่าใน 5 วันเด็กควรได้กินอะไรบ้าง ซึ่งมีการนำมาปฏิบัติจัดการอาหารกลางวันใน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง โรงเรียนในสังกัดเทศบาล 3 แห่ง รวมเด็กกว่า 2,000 คน

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

ขณะที่ นางรดา เพ็ชรขัน ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลเมืองน่าน เล่าว่า ที่ผ่านมา มักจะพบปัญหาโรงเรียนทำอาหารกลางวันไม่ตรงกับเมนูที่ส่งมาเบิกเงินอุดหนุน เมื่อนักโภชนาการท้องถิ่นเข้ามากำกับดูแลในจุดนี้ ก็ได้ให้ทุกโรงเรียนในสังกัดช่วยกันวางแผนและใช้เมนูเดียวกัน เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ก็จัดเมนูเหมือนกัน เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ

“ช่วงแรกมีปัญหา ครูบางโรงเรียนถึงกับร้องเรียนว่าทำไม่ได้ เมื่อตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่าเดิมครูเป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันเอง ทางนายกเทศมนตรีจึงได้ยกตัวอย่างการซื้อวัตถุดิบผิดสเปคจากโรงเรียนในจังหวัดอื่น จนถูกออกจากราชการถึง 5 คน ซึ่งนั่นเป็นเพียงการซื้อของผิดสเปค ไม่ใช่การทุจริต ทำให้เสียงร้องเรียนเงียบหายไป และค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน ก่อเกิดความร่วมมือ เช่น เมื่อนักโภชนาการเข้าไปตรวจสอบวัตถุดิบที่จะใช้ทำอาหารกลางวันแล้วพบว่าหมูบดติดมันมากเกินไป ขอให้เปลี่ยนเป็นเนื้อที่ติดมันน้อยลง ครูกับแม่ครัวก็คุยกับผู้จัดหาวัตถุดิบ ยอมจัดหาวัตถุดิบตามที่ต้องการให้”

ขณะที่ น.ส.นันท์ลินี สายสุริยะรัชกร นักโภชนาการท้องถิ่น เทศบาลเมืองน่าน ระบุว่า ในช่วงแรกที่เข้ามาดำเนินการ พบอุปสรรคในการปฏิบัติงาน อาทิ แม่ทำอาหารรสชาติเค็ม ตักอาหารให้เด็กที่มาก่อนในปริมาณมาก จนไม่เพียงพอกับเด็กที่มาทีหลัง หั่นผักชิ้นโต ไม่สวยงาม ทำให้เด็กเขี่ยผักออกและมีอาหารเหลือทิ้งแต่ละวันในปริมาณมาก

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

จึงต้อง มีการแนะนำให้ปรับพฤติกรรมทีละเล็ก ละน้อย มิฉะนั้นแม่ครัวจะรู้สึกเครียด เป็นภาระหนัก และที่สำคัญคือการปรับพฤติกรรมเด็กให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็ไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว อย่างการเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง เมื่อเปิดเทอมต้องเริ่มจากการผสมข้าวกล้องลงในข้าวขาวเพียง 1 ใน 3 ก่อนเพิ่มปริมาณข้าวกล้องมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป มิฉะนั้นเด็กจะรู้สึกว่าข้าวแข็ง สีไม่สวย จึงไม่กิน

เทศบาลเมืองน่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการคุมอาหารกลางวันเด็ก

ทั้งนี้ งานสร้างเสริมภาวะโภชนาการในอาหารกลางวันของเด็ก ไม่ใช่หน้าที่ของนักโภชนาการและแม่ครัวเท่านั้น ครูเองก็ต้องช่วยกระตุ้น เมื่อถึงคาบเรียนสุดท้ายก่อนรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นครูสอนวิชาใด ต้องหยิบยกเรื่องอาหารไปพูดคุยกับเด็กว่าวันนี้มีเมนูใด มีอะไรเป็นส่วนประกอบ และให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างไร เด็กจะได้เกิดความอยากรู้อยากเห็น และอยากรับประทานให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยว

เหลือเฟือ! งบอาหารกลางวัน 20 บาท/หัว ถ้าไม่มีคนโกง

เปิดงบ! สพฐ. ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ป.1-ป.6 รร.ในสังกัด กว่า 27,000 แห่ง

related