svasdssvasds

ช่วงปีใหม่ ตร.ยัน งดตั้งด่านถนนสายหลัก เน้นสายรอง จ่อเอาผิดร้านขายเมาให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี

ช่วงปีใหม่ ตร.ยัน งดตั้งด่านถนนสายหลัก เน้นสายรอง จ่อเอาผิดร้านขายเมาให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยืนยัน เส้นทางหลักไม่ตั้งด่าน แต่สายรองตั้งด่าน 2,530 จุด ออก 5 มาตรการเตือน ผู้ขับขี่เมาสุรา ชี้ตำรวจมีอำนาจยึดรถ ส่งผู้ขับขี่ดำเนินคดี เล็งขยายผลคดีถึงร้านค้า โดยเฉพาะที่จำหน่ายให้เยาวชนต่ำกว่า 18 ปี

พล.ต.ท.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกจราจรแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า วันที่ 25 ธันวาคม จะมีการคืนพื้นผิวการจราจรที่มีการก่อสร้างบนถนนสายหลักได้ทั้งหมด ทั้งนี้ตามถนนต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น จุดชะลอความเร็ว จะวางกำลังตำรวจไว้คอยดูแล

โดยยืนยันว่า บนถนนสายหลักวันที่ประชาชนเดินทางไปและกลับ จะไม่มีการตั้งด่าน แต่จะเน้นอำนวยความสะดวกจราจร เมื่อรถเริ่มมีความหนาแน่น จะมีตำรวจทางหลวงที่คอยดูแลเปิดช่องทางพิเศษให้รถวิ่ง และตำรวจท้องที่คอยสนับสนุนการทำงานควบคุมสัญญาณไฟตามทางแยกต่างๆ รวมถึงดูแลถนนสายรองและกวดขันวินัยจราจรให้ดี

ทั้งนี้ การตั้งด่านตรวจในต่างจังหวัด ทางตำรวจจะร่วมกับอาสาสมัครตำรวจบ้าน คอยช่วยอำนวยความสะดวก และประชาสัมพันธ์แนะนำเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27-28 ธันวาคม และวันที่ 1-2 มกราคม ในถนนสายรองบางจุด อาจจะต้องมีการตั้งด่านคอยกวดขันกรณีตรวจวัดแอลกอฮอลล์ จุดชะลอความเร็วในเวลากลางคืน

พลตำรวจโทดำรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลการตั้งด่านทั่วประเทศ ในช่วง 7 วันอันตราย ว่าจะมีจุดตรวจ / จุดสกัดจำนวน 2,530 จุด ชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1,869 ชุด และจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จำนวน 1,909 จุด ทั้งนี้จุดต่างๆ อาจเพิ่มหรือลด ตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

สำหรับกรณีตรวจพบผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุรา หากปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม มีอำนาจยึดรถเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่แล้ว ตามป.วิอาญา ม.85 และระเบียบการยึดของกลาง เพราะรถดังกล่าวถือว่าเป็นพยานหลักฐานในการกระทำความผิด

โดยปีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นหนักการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นพิเศษ หากเป็นกรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ขับขี่เมาสุรา จะมีการขยายผลดำเนินคดีไปยังร้านจำหน่ายสุรา และหากเป็นกรณีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี จะเข้าข่ายความผิดจำหน่าย แลกเปลี่ยนหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก และ ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และนโยบายเน้นหนักเพิ่มเติมโดยการกำหนดจุดตรวจ จุดสกัดและเพิ่มชุดเคลื่อนที่เร็วให้มากที่สุดในแต่ละพื้นที่ เพื่อกวดขันวินัยการจราจรบริเวณจุดเสี่ยง

หากพื้นที่ใดจัดงานเลี้ยงรื่นเริงให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้กวดขันจับกุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ในเวลาห้าม และสถานที่ห้ามจำหน่าย และตั้งจุดตรวจบริเวณใกล้ๆ สถานที่จัดงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ

สำหรับมาตรการจัดการต่อร้านค้าที่จำหน่ายสุราให้กับผู้ขับขี่ มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ

1.การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาห้าม ตามมาตรา 28 (ขายได้ระหว่างเวลา 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น.) (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่น)

2.การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามตามมาตรา 27 เช่น ในวัด สถานพยาบาล สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ หรือ สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เช่น บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่น)

3.การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ตามมาตรา 29 (จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่น)

4.การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้าม เช่น ในวัด สถานพยาบาล สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ หรือสถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เช่น บนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่บนรถ หรือในรถ มาตรา 31 (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่น) และ5.จำหน่าย แลกเปลี่ยนหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก (จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน3หมื่นบาท )

related