svasdssvasds

จ่อรื้อถอน! แผ่นป้ายโฆษณา ผิดกฎหมาย 26 ต.ค. นี้

จ่อรื้อถอน! แผ่นป้ายโฆษณา ผิดกฎหมาย 26 ต.ค. นี้

กทม.เตรียมปลดแผ่นป้ายโฆษณาที่ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว และการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ผิดกฎหมาย

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมกรณีการปลดแผ่นป้ายโฆษณาที่ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว และการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ผิดกฎหมาย ว่า ป้ายโฆษณาที่ได้บอกเลิกสัญญาหรือป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบป้ายไอติม โดยในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้สั่งการให้สำนักงานเขตโดยฝ่ายเทศกิจทำการกวดขันและรื้อถอนป้ายที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องแล้วประมาณ 5 หมื่นป้าย และดำเนินการปรับเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 3 ล้านบาท

ส่วนใหญ่พบว่าเป็นป้ายโฆษณาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังมีป้ายโฆษณาแบบเสาสูงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF เคยได้สิทธิกับกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2555 จำนวน 1,170 ป้าย แต่ปรากฏว่าเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้หยุดจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการค้างชำระประมาณ 200 ล้านบาท และยังทำการโฆษณาทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

จ่อรื้อถอน! แผ่นป้ายโฆษณา ผิดกฎหมาย 26 ต.ค. นี้

กรุงเทพมหานครจึงได้ทำหนังสือยกเลิกสัญญา และเตรียมทำการรื้อถอนในทันที โดยได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่งร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบจุดของป้ายโฆษณาให้แน่ชัดอีกครั้ง และทำการรื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งหมดภายในวันศุกร์นี้ ซึ่งวิธีสังเกตป้ายโฆษณาเสาสูงที่ถูกกฎหมาย เบื้องต้นขอบป้ายด้านล่างจะมีชื่อของบริษัท และสันป้ายจะต้องมีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ติดไว้ชัดเจน ทั้งนี้หากบริษัทไม่ดำเนินการตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดหรือฝ่าฝืน จะทำการเชิญมาพบเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกันอีกครั้ง

ในส่วนของตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งฝาหลังด้านนอกตู้โทรศัพท์มีการทำเป็นป้ายโฆษณา และไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งผิดหลักวัตถุประสงค์และได้หมดสัญญาแล้ว จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เป็นตู้ของบริษัทของเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ TOT ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และหมดสัญญาแล้ว แต่ยังคงทิ้งตู้ค้างไว้อยู่ จำนวน 456 ตู้ 1,068 เครื่อง ประกอบด้วย

-เขตพญาไท 68 ตู้

-เขตสาทร 31 ตู้

-เขตราชเทวี 61 ตู้

-เขตวัฒนา 76 ตู้

- เขตบางรัก 112 ตู้

-เขตคลองเตย 22 ตู้

-เขตปทุมวัน 55 ตู้

-เขตพระนคร 40 ตู้

อีกทั้งยังเป็นการบดบังภูมิทัศน์ และในบางแห่งมีคนเร่ร่อนหรือสุนัขเข้าไปหลับนอน จึงทำให้มีความสกปรกและไม่ถูกหลักอนามัย ทั้งนี้จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางกรณีของเขตสาทรที่ได้ทำการรื้อถอนตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือว่าเป็นการทำโดยชอบตามกฎหมาย ทั้งนี้ได้กำชับให้สำนักงานเขตกลับไปสำรวจตู้โทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่อีกครั้ง โดยภายในสัปดาห์หน้าจะทำการประชุมเพื่อให้ได้ขอสรุปของตู้โทรศัพท์สาธารณะทั้งหมด

related