svasdssvasds

ตร.ราชบุรี บุกตรวจร้านขาย “ยาเขียวเหลือง” ให้เด็ก

ตร.ราชบุรี บุกตรวจร้านขาย “ยาเขียวเหลือง” ให้เด็ก

คลิปวิดีโอเด็กนักเรียนไปซื้อยา “เขียว-เหลือง” มากถึง 30 เม็ด จากร้านขายยาแห่งหนึ่งในเขตเทศบาล ซึ่งยาดังกล่าว จัดเป็นยาอันตราย กลุ่มวัยรุ่นมักนำไปผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง ให้ความรู้สึกเหมือนเสพยาเสพติด แต่หารู้ไม่ว่าผลข้างเคียงอาจทำให้เสียชีวิตได้

ราชบุรี บุกตรวจร้านขาย “ยาเขียวเหลือง” ให้เด็ก

คลิปวีดีโอที่เผยแพร่อยู่ในโลกออนไลน์ เป็นเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนหญิงไปขอซื้อยาแก้ปวด เม็ดสีเขียว-เหลือง ซึ่งเป็นยาอันตราย จำนวน 30 เม็ด ในราคา 105 บาท จากร้านขายยาแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี โดยพนักงานขายไม่ใช่เภสัชกรได้ขายยาให้เด็ก และไม่มีการสอบถามถึงวัตถุประสงค์ ของการซื้อยาจำนวนมาก เนื่องจากยาดังกล่าว เป็นยาแก้ปวดชนิดรุนแรง จัดเป็นยาอันตราย ที่วัยรุ่นมักนิยมซื้อไปผสมกับน้ำอัดลมและยาแก้ไอ เมื่อดื่มเข้าไปจะเกิดอาการเคลิ้ม เหม่อลอย โดยที่ไม่รู้ถึงพิษภัยของการใช้ยาผิดประเภท

ล่าสุด วานนี้ (11 ก.ย. ) พันตำรวจตรี อาคม โลภปัญญา สารวัตรสืบสวน กองกำกับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี พร้อมด้วยเภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุข จ.ราชบุรี จึงได้เข้าตรวจสอบที่ร้านขายยา “พีพี ฟาร์มา” ที่ปรากฏในคลิป โดยพบว่ามียาเขียวเหลือง เป็นจำนวนมาก

นางสาว ปยุดา จันตรี พนักงานขายยา ยอมรับว่าขายยาให้เด็กจริง และขายในช่วงที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ แต่ชี้แจงว่ายาที่ขายเป็นแค่ยาแก้ปวดธรรมดา ไม่ใช่ยาทรามาดอลตามที่เข้าใจกัน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับในข้อหา “ขายยาอันตรายโดยไม่มีเภสัชกร”

ด้าน นายสุพัฒน์ ตรีสกุล เภสัชกรชำนาญการสำนักงานสาธารณสุข จ.ราชบุรี กล่าวว่า ร้านขายยาแห่งนี้มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่ที่ผิดคือขายยาอันตราย โดยไม่มีเภสัชกรประจำร้าน และถือว่าพนักงานไม่มีจิตสำนึก เพราะแม้แต่เด็กๆ มาขอซื้อยาเขียวเหลือง ครั้งละมากๆถึง 30 เม็ด ก็ยังขาย ทั้งที่รู้ว่าเด็กๆ นั้นนำยาไปใช้ผิดประเภทแต่ก็ไม่ได้สนใจ วันนี้จึงต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดี และจะต้องดำเนินการกับร้านขายยาทุกร้านในจ.ราชบุรี ด้วย

สำหรับยา “ทรามาดอล” (Tramadol) เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน ในทางการแพทย์จะใช้รักษาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก เช่น ปวดไมเกรน ปวดประสาท ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อ

แต่ในกลุ่มวัยรุ่น จะเรียกว่า ยาเขียว-เหลือง และมักถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเนื่องจากมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยจะนำไปเสพแบบยาเดี่ยว และนำไปผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง ,น้ำอัดลม , เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งผสมกับน้ำใบกระท่อม และยาต่างๆ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้อากาศ

แต่ยานี้จะมีผลข้างเคียงคือ อาเจียน มือสั่น ใจสั่น มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน ซึ่งหากได้รับยาในปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม (10 เม็ด) ขึ้นไป จะเกิดอาการรุนแรง เช่น ชัก ไข้สูง ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้

related