svasdssvasds

"ภูมิใจไทย" เนื้อหอมนักการเมืองแห่ซบ ทางเลือกปลอดภัยใครชนะก็ดึงร่วม

"ภูมิใจไทย" เนื้อหอมนักการเมืองแห่ซบ ทางเลือกปลอดภัยใครชนะก็ดึงร่วม

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ "น้องใหม่" พลังประชารัฐ ดูจะอีรุงตุงนังนัวเนียกับทั้งเรื่องในพรรค และนอกพรรค รวมทั้งความไม่ชัดเจนเรื่องกฎกติกาจาก กกต.และ คสช.

แต่พรรคอันดับ 3 จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 อย่างภูมิใจไทย กลับมีรอยยิ้มอบอวล ทั้งจากแกนนำคนสำคัญ อย่าง "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ยังได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกหนี่งสมัย ในการประชุมพรรคเมื่อวันอังคาร และระดับแกนนำพรรคคนอื่นๆ ตลอดจนผู้มาใหม่ ที่ถือเป็นฤกษ์เอาชัยเปิดตัว

อย่างชาดา ไทยเศรษฐ อดีต ส.ส.หลายสมัย จังหวัดอุทัยธานี และเจ้าของกิจการค้าเนื้อวัวรายใหญ่ ที่กระโดด้ำถ่อมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา หรือเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต ส.ส.หลายสมัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาเหมือนกัน แต่ล่าสุดไปอยู่เพื่อไทยเมื่อปลายปี 2556 ทั้งคู่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วย รวมทั้ง "เสี่ยป้อ" วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เจ้าของกิจการแป้งมันเอี่ยมเฮง เศรษฐีท้องถิ่นตัวจริงรวยจริงแห่งเสิงสาง โคราช คนที่ "แรมโบ้อีสาน" สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ยื่นเรื่องร้องกกต.โคราช ให้ยุบพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง

นอกจากการประชุมใหญ่ของพรรค จะคึกคักครึกครื้นทั้งคนเก่าคนใหม่แล้ว ยังได้เห็น 2 ผู้เฒ่าอย่างชัย ชิดชอบ และชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้บุกเบิกซิโน-ไทย อีกทั้งหากไม่มีอะไรพลิกผัน ยังจะมีระดับอาวุโสจาก”บ้านใหญ่”ตระกูลสะสมทรัพย์ จากนครปฐม มาเสริมความเข้มข้นในลำดับถัดไป

ถึงแม้เช็กรายชื่อแล้ว มีแนวโน้มสูงจะเสียบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย อดีต ส.ส.นครราชสีมา ให้กับพลังประชารัฐ แต่ที่ได้กลับมาทดแทน ดูจะได้กำไรโข

เหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคภูมิใจไทย ยังเป็นศูนย์กลางของนักการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง คืออนาคตที่ชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นผลจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ถือเป็นไม้เบื้อไม้เมาในเวทีการเมือง ชนิดผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับจะกลับมาจูบปากจับมือร่วมกันสู้กับฝั่งพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ชนะของ 2 พรรคนี้ จำต้องมีพันธมิตรจากพรรคอื่นมาเป็น "ตัวช่วย"

ปัจจัยที่ 2 การออกแบบรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธ์ และกรธ. ที่แทบจะปิดช่องสกัดไม่ให้พรรคการเมืองเดียวได้เสียงข้างมากในสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพังเหมือนหลังเลือกตั้งปี 2548 เท่ากับต้องเป็นรัฐบาลผสม อย่างน้อย 2-3 พรรคขึ้นไป สมการการเมืองดังกล่าว จะเข้าทางพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ซึ่งน่าจะมีส.ส.อยู่ระหว่าง 30-45 คนโดยประมาณ

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใด หรือขั้วใดชนะเลือกตั้ง หรือช่วงชิงจังหวะในการรวบรวม ส.ส.ให้ได้เกินกว่า 376 เสียงในการเลือกตั้งก๊อกแรก คือพิจารณาจาก 3 รายชื่อของพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากกว่า 25 คน พรรคนั้นหรือขั้วนั้น ต้องเลือกดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าไปร่วมเป็นพรรคแรก

สัญญาณความชัดเจนเรื่องนี้ สามารถเห็นได้จาก "เสี่ยหนู" ปฏิเสธที่จะวิจารณ์เรื่อง 4 รัฐมนตรีในครม."บิ๊กตู่" ไปนั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่ลาออกจากตำแหน่งในครม. ทั้งที่กำลังเป็นประเด็นร้อนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในทุกภาคส่วน ด้วยเหตุผล ไม่คิดถึงคนอื่น นอกจากพรรคตัวเอง และไม่ได้มองเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งสะท้อนนัยทางการเมือง และเป็นเสมือนสะพานทอดไมตรีอยู่ในที

เมื่อบวกเข้ากับ ศักยภาพในการประสานเพื่อเจรจาและปิด "ดีล" การเมือง ซึ่งในพรรคภูมิใจไทยก็มีอยู่หลายคน ตั้งแต่เสี่ยชวรัตน์ ซึ่งเคยร่วมงานในครม.กับทักษิณ ชินวัตรมาก่อน นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ทายาทมือประสานในอดีตอย่าง "ทวิชหมัดเมา" นายทวิช กลิ่นประทุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนดังแห่งตระกูล "ชิดชอบ" ซึ่งถือว่า อยู่ในลำดับต้นๆของไทย แม้เจ้าตัวจะยังยืนกรานทำงานด้านกีฬาต่อไปก็ตามที แต่ในทางปฏิบัติ ปฏิเสธไม่ว่าเขาเป็นทั้งเพื่อนและพี่ชายของ "เสี่ยหนู"

พรรคภูมิใจไทยที่แนวโน้มโชติช่วงสดใส จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับนักการเมืองไทยส่วนหนึ่ง ที่เลือกจะ "ซื้ออนาคต" ขออยู่ขั้วรัฐบาล ดีกว่าต้องไปสู้รบหรือเพาะศัตรูโดยใช่เหตุ

หรือแม้แต่ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน!

 

ประจักษ์ มะวงศ์สา

related