svasdssvasds

ขอเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทนฝุ่นควัน เพื่อไทยย้ำจุดยืน ผลักดันพรบ.อากาศสะอาด

ขอเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทนฝุ่นควัน เพื่อไทยย้ำจุดยืน ผลักดันพรบ.อากาศสะอาด

ข่าวดีรับวันสากลอากาศสะอาด 7 กันยายน พรรคเพื่อไทยย้ำชัด เตรียมผลักดันร่างพรบ.อากาศสะอาด เข้าสภา 12 กันยายน นี้ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ก็รับว่ายังคงต้องตั้งรับฤดูฝุ่นควันปลายปีนี้

ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องเผชิญในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในปีถัดไป แต่ในปีนี้ ดูเหมือนเรากำลังจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ภายหลังพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยชูนโยบายเด่นที่จะแก้ปัญหาฝุ่น สามารถรวบรวมเสียงในสภา และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับสปริงนิวส์ว่า รัฐบาลเพื่อไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามเจตนารมย์ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

โดยในขณะนี้ทางพรรคกำลังเตรียมยื่นร่าง พรบ.อากาศสะอาด ฉบับพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ ขึ้นสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้งในวันอังคารนี้ (12 กันยายน 2566)

จักรพล กล่าวว่า พรบ.อากาศฉบับใหม่นี้จะมีจุดเด่นในการแก้ปัญหาฝุ่นควันดังนี้

 

  • ยกระดับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนร่วมกันในระดับอาเซียน
  • ใช้กลไกผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยผู้ก่อมลพิษหรือผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มการจัดเก็บภาษีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามพรมแดน ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
  • ยกระดับการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี เช่นการใช้เทคนิคฝังกลบตอซังพืชแทนการเผา เพื่อช่วยลดการเผาในภาคเกษตร อันเป็นต้นตอใหญ่ของปัญหาฝุ่นควันในไทย
  • ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการปลูกป่า ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนแล้ว ยังจะช่วยกรองฝุ่นควัน ฟอกอากาศให้สะอาดขึ้น

ขอเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทนฝุ่นควัน เพื่อไทยย้ำจุดยืน ผลักดันพรบ.อากาศสะอาด

“รัฐบาลของเรามีความมุ่งมั่นอย่างมากในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือต้องทนประสบ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ลูกเด็กเล็กแดง ต้องเลือดกำเดาไหลเพราะสูดดมมลพิษฝุ่นในทุกๆ ปี และในการประชุม UN ที่นครนิวยอร์กในวันที่ 19 กันยายน นี้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะขึ้นพูดต่อที่ประชุม UN ย้ำถึงพันธกิจของประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน” จักรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในช่วงฤดูฝุ่นควันช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ จักรพล กล่าวว่า ถึงแม้ว่า พรบ.อากาศสะอาด จะผ่านในเร็วๆ นี้ แต่ก็จะยังไม่ทันการต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายในปีนี้ ดังนั้น การดำเนินการสำหรับปัญหาฝุ่นควันในปีนี้ยังคงต้องเน้นมาตรการตั้งรับเพื่อลดผลกระทบมลพิษต่อประชาชน เช่น การทำห้องปลอดฝุ่น

“เราตั้งใจที่จะทำให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เราจะต้องทนรับมือกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ตอนนี้เราเป็นรัฐบาล มีอำนาจบริหารเต็มมือ ดังนั้นจึงจะทำให้เต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบฝุ่นควัน PM2.5 ให้กับพี่น้องประชาชนให้ถึงที่สุด” จักรพล กล่าว

ขอเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทนฝุ่นควัน เพื่อไทยย้ำจุดยืน ผลักดันพรบ.อากาศสะอาด

ขณะเดียวกัน กรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่า ผลการวิเคราะห์ภาพดาวเทียมปี 2564-2566 ชี้ว่า อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำลายผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นสาเหตุผลักที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน ในขณะที่จุดความร้อน (Hot Spot) ในพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายลดจุดความร้อน

ดังนั้น ในวาระที่รัฐบาลใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทยเสนอข้อเรียกร้องดังนี้

  • ทบทวนความล้มเหลว ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 และปรับแผนดังกล่าวบนพื้นฐานของเจตจำนงทางการเมืองอันแน่วแน่ที่จะไปให้พ้นจากการครอบงำของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย
  • มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ออกกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูก​ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) ของกลุ่มบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related