svasdssvasds

Minh Khai หมู่บ้านในเวียดนาม กำลังถูกขยะพลาสติกกัดกินชีวิตและสิ่งแวดล้อม !

Minh Khai หมู่บ้านในเวียดนาม กำลังถูกขยะพลาสติกกัดกินชีวิตและสิ่งแวดล้อม !

ประเทศเวียดนามนำเข้าขยะพลาสติกมาจากประเทศในสหภาพยุโรปประมาณ 64 ล้านกิโลกรัมต่อปี เรื่องนี้เป็นปัญหาเพราะโรงงานรีไซเคิลที่กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศกำลังกัดกินชีวิตผู้คนและสภาพแวดล้อมในระแวกนั้นอย่างหนักหน่ว

ล่าสุด ทีมนักวิจัยชาวดัตช์ได้เดินทางไปยัง Minh Khai กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อไปสำรวจ และศึกษาดูว่า สถานการณ์ขยะที่ถูกส่งมาจากยุโรปเป็นอย่างไร และส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมระแวกนั้นอย่างไรบ้าง

เกริ่นก่อนว่า Minh Khai เป็นหมู่บ้านซึ่งได้ชื่อว่าแหล่งรีไซเคิลขยะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และด้านล่างนี้คือสิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้พบ รู้สึก และสัมผัส ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศเวียดนาม

Minh Khai หมู่บ้านแห่งขยะในเวียดนาม Credit ภาพ Dat Nguyen

เวียดนามได้รับผลกระทบจากขยะมากแค่ไหน

เมื่อไปถึงหัวหน้ากลุ่มวิจัยนี้ Kaustubh Thapa อธิบายว่าเห็นวงจรชีวิตของผู้คนที่ต้องผูกโยงอยู่กับโรงงานรีไซเคิลขยะ ทำอาหาร นั่งล้อมวงกินเข้า ลูกเด็กเล็กแดงต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางควันพิษจากการเผาพลาสติก หรืออันตรายจากน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ ที่ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำในเมืองอยู่วันละ 7 ล้านลิตร

ประเทศต้นทางอย่างยุโรปซึ่งได้เงินจากการขายขยะให้เวียดนามไปมาก ทว่า นักวิจัยติงเล็กน้อยโดยบอกว่า การที่ประเทศต้นทางไม่ยอมรับผิดชอบขยะในประเทศให้เรียบร้อย แต่เลือกส่งมาที่ประเทศแถบนี้ ทำให้สังคม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเวียดนามระส่ำย่ำแย่ไปหมด

ชีวิตผู้คนต้องวนลูปอยู่กับโรงงานรีไซเคิลขยะ Credit ภาพ Dat Nguyen

กลับไปที่ฟากยุโรป นักวิจัยเสริมว่า เข้าใจว่ามีการพยายามที่จะแยกขยะแล้วในต้นทาง แต่มันไม่มาก และเป็นจริงเป็นจังมากพอ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบในแง่บวก หรือพูดง่าย ๆ คือ ขยะที่เล็ดลอดออกมาก็ยังคงปริมาณไม่ต่างจากเดิม

ทำไมยุโรปยังส่งขยะมาประเทศ Non-OECD ได้อยู่?

เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ข่าวยืนยันว่าประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ลงมติร่วมกันแล้วว่า จะไม่ส่งขยะไปยังประเทศที่อยู่นอกองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ the Organization Economic Cooperation and Development (OECD) อีกต่อไป ไฉนถึงยังมาโผล่ที่เวียดนามได้อีก

ความยากอยู่ที่ว่า เราไม่สามารถฟันธงได้ ว่านั่นคือขยะที่อยู่มาก่อนข้อตกลงนี้จะเกิดขึ้น หรือแท้จริงแล้วเป็นขยะล็อตใหม่ที่ถูกส่งเข้าไป ซึ่งหากเป็นอย่างหลังคงต้องมีเรื่องให้ถกกันอีกยาว เพราะประเทศเวียดนามเป็น Non-OECD

ทั้งนี้ นักวิจัยสรุปไว้ว่า พวกเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าการส่งออกขยะไปรีไซเคิลในประเทศอื่น ๆ สามารถเป็นไปได้ด้วยวิธีการแบบยั่งยืน ซึ่งกฎหมายหรือมาตรการที่ดูแลหน้าที่โดยตรงอย่าง ข้อตกลงใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของยุโรป (The European Green New Deal) ปฏิบัติการเศรษฐกิจแบบวงกลม (Circular Economy Actions Plan) หรือกระทั่งสนธิสัญญาพลาสติกระหว่างประเทศที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติ

เหล่านี้จำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องการรีไซเคิลขยะให้มากขึ้น โดยเอาชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อมเข้าไปพิจารณาด้วย มิเช่นนั้น เคสของประเทศเวียดนามในครั้งนี้ก็จะเกิดซ้ำซากแบบไม่จบสิ้น

 

ที่มา: Phys.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related