svasdssvasds

เปิดโมเดลอนุรักษ์น้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสีย พร้อมเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวา

เปิดโมเดลอนุรักษ์น้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสีย พร้อมเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวา

ปัญหา 'แหล่งน้ำในชุมชน' จะยังไม่หายไป หากยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จากทั้งทางฝั่งของภาครัฐ หรือเอกชนเองก็ตาม จะปัดความรับผิดชอบคนในชุมชนไปจัดการปัญหามลพิษทางน้ำเพียงลำพังก็คงไม่ได้ เพราะพื้นที่บางแห่งยังขาดแคลนต้นทุนหลายด้านในการอนุรักษ์ 'แหล่งน้ำ'

มีคำกล่าวที่ว่า ‘น้ำ’ คือบ่อเกิดของชีวิต

แต่หากเราออกจากโลกปรัมปราแล้วมองที่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จะพบว่าแหล่งน้ำในปัจจุบัน มีหลายสัดหลายส่วนที่ถูกละเลย แถมไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

ส่งผลให้แหล่งน้ำในชุมชนหลายพื้นที่ กลายเป็นแหล่งสะสมมลพิษ และสร้างความขุ่นมั่วให้กับคนในชุมชนฝังรากลงไปในระดับวิถีชีวิต จากคำกล่าวที่คมคาย ทุกวันนี้อาจกลายเป็น ‘น้ำที่ทำลายชีวิต’ ไปเสียแล้ว

แหล่งน้ำเน่าเสียในชุมชน Cr. Flickr

แหล่งน้ำเน่าเสียในชุมชน Cr. Flickr

ผู้คนในชุมชนที่อาศัยและพักพิงอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ จากที่เมื่อก่อนแม่น้ำลำคลองใสสะอาด มีเรือมากมายหลายชนิด แล่นปรี่อยู่บนน่านน้ำ ส่งเสียงเรียกจนใบหูกระดิก ทว่าตอนนี้ แหล่งน้ำเหล่านั้น กลับกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการเทขยะทิ้งไปเสียได้

มาร่วมแชร์กันหน่อยว่า เคยเจอขยะประเภทใดบ้างในแม่น้ำลำคลองแถว ๆ บ้าน?

ตัดกลับมาในปัจจุบัน มีหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ต้องสูญเสียแหล่งน้ำในชุมชนไปอย่างไร้ประโยชน์ และแม้อยากจะคืนชีพให้กับหัวใจของชุมชนแค่ไหน แต่ก็ยังไม่มีปัจจัย หรือแรงส่งที่มากพอที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ

อันเนื่องมาจากขาดความตระหนักรู้ วิธีปฏิบัติ การสานต่อแนวทางการอนุรักษ์ เรื่อยไปจนถึงบริบทของชีวิตปัจจุบัน ที่ผลักเราให้ห่างไกลออกจากแม่น้ำลำคลองออกไปเรื่อย ๆ 

บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ ไม่สามารถพักพิงอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำได้ กระทั่งคนในชุมชน ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำต้องพบเจอกับสารพัดเรื่องปวดหัวที่เกิดจากปัญหาน้ำเสียในชุมชนอาทิ ส่งกลิ่นเหม็น และไม่สามารถนำมาใช้สอยได้

หากเรามาสืบทราบถึงต้นตอที่ทำให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำแล้ว จะพบว่า หลัก ๆ เกิดจาก 3 แหล่งหลักดังนี้

  • Domestic Wastewater หรือ แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน

หากเราลงไปสำรวจในแม่น้ำลำคลอง และดูว่าภายใต้น้ำเน่าเสียนั้น มีวัตถุอะไรนอนแช่อยู่ข้างใต้นั้นบ้าง เราอาจจะพบกล่องนม ขวดพลาสติก ถุงขนม เศษอาหาร ซากสัตว์ที่ตายแล้ว ที่นอน หมอน มุ้ง ทีวี หรือแม้กระทั่งตู้เย็น ก็ล้วนถูกพบในแม่น้ำลำคลองได้ทั้งนั้น

ขยะหลากหลายประเภทในแหล่งน้ำ Cr. Flickr

เมื่อมีขยะมากมายหลายชนิดบริเวณแหล่งน้ำ แล้วไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง จากแม่น้ำใสก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมมลพิษทันที สัตว์น้ำที่เคยอาศัยอยู่ก็จะอพยพไปแหล่งอื่น หรือไม่ก็ตายเพราะทนค่ามลพิษของแหล่งน้ำไม่ไหว

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเรื่องกลิ่นอีกด้วย ประชาชนผู้อาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำจำต้องสูดดมกลิ่นน้ำเน่าเหม็น ครั้นจะนั่งใช้เวลาจิบชาปล่อยกายใจให้ท่องไปกับสายลม กลับได้กลิ่นเหม็นเน่าโชยมาดับจินตนาการหดหายไปหมด

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนในแต่ละแห่ง ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มจุดไข่ปลาของปัญหามลพิษทางน้ำด้วยเช่นกันอาทิ การทิ้งเศษอาหาร ร้านค้าที่เทน้ำทิ้งที่มีคราบไขมัน น้ำทิ้งจากการซักผ้า หรือล้างจาน เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทั้งสิ้น

  • Industrial Wastewater หรือ แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม

อีกหนึ่งแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำคือ ภาคอุตสาหกรรมเช่น โรงงานต่าง ๆ อาทิ โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำปลา โรงงานกระดาษ โรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานผลิตสี หรือบางแหล่งอาจมีการทำเหมืองแร่

กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ท้ายที่สุดจะปล่อยสารอินทรีย์ลงสู่แหล่งน้ำในชุมชน ซึ่งไม่ต้องอธิบายให้มากความว่า ของเสียจากโรงงานเหล่านี้ทำให้แหล่งน้ำในชุมชนเน่าเสียอย่างไร แถมส่งกลิ่นเหม็นเน่า หรือบางทีอาจปล่อยสารอันตรายลงสู่แหล่งด้วยเช่น ตะกั่ว ปะรอท สารหนู หรือไซยาไนด์ลงน้ำอีกด้วย

  • Agricultural Wastewater หรือ แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากภาคเกษตรกรรม

น้ำที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี หรือน้ำที่ผ่านการชำระคอกสัตว์ น้ำเสียจากนาข้าว   และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ถูกปล่อยลงแม่น้ำลำคลองอย่างมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อแหล่งน้ำของชุมชน ทำให้แหล่งน้ำในชุมชนต่างได้รับผลกระทบจากสิ่งปฏิกูลที่ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำกันอย่างถ้วนทั่ว

เสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนก็ส่งเสียงถึงภาครัฐดังขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้เข้ามาวางระบบการจัดการน้ำ หรือบำบัดน้ำในแหล่มชุมชนให้สะอาด ไม่ส่งกลิ่นเหม็น และจะน่าอภิรมย์เป็นอย่างยิ่งหากแหล่งน้ำในชุมชนสามารถนำมาใช้สอยได้แบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ทางฝั่งภาครัฐก็มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นยกตัวอย่างกรณีของ กรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ใน 1 วัน ชาวกรุงเทพฯ ใช้น้ำประปากว่า 2,637,009 ลบ.ม. ซึ่งกว่า 80% หรือราว 2,109,607 ลบ.ม. จะกลายเป็นน้ำเสีย

หลังจากนั้นน้ำเสียเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปเข้าแหล่งบำบัดน้ำเสียทั้ง 8 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครได้แก่ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และบางซื่อ ซึ่ง 8 แห่งที่กล่าวมานี้ สามารถบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำสะอาดที่ได้คุณภาพราว 1,112,000 ลบ.ม. ต่อวัน

แหล่งบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร Cr. สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

ถึงกระนั้น ก็ยังมีแหล่งบำบัดน้ำเสียแหล่งอื่น ๆ แต่เป็นขนาดย่อม ซึ่งสามารถบำบัดน้ำได้ตั้งแต่ 10,000 – 20,000 ลบ.ม. ต่อวัน หากเราได้ตามข่าวสารกันมาบ้างก็พอจะรู้ว่าน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนกทม. มีเยอะเกินนิ้วมือจะนับไหว กระจายกันอยู่ในหลาย ๆ เขต ทำให้กทม. เล็งที่จะสร้างโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มฟันเฟืองในการบำบัดน้ำ

ทั้งนั้นทั้งนี้ เมื่อได้รับเสียงเพรียกจากภาคประชาชน หน่วยงานรัฐก็ขยับตัวแล้ว ในการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนด้วยหลากหลายกระบวนท่า ทางภาคเอกชนก็ไม่น้อยหน้า เดินเครื่องเต็มกำลัง บริษัทต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญในแวดล้อมกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อรับกับยุคสมัยที่กำลังเข้าสู่โลกแห่งความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเคลื่อนไหวของ บริษัท เนสท์เล่ ที่เดินหน้าคืนแหล่งน้ำสะอาดให้กับชุมชนและธรรมชาติ ภายใต้โครงการ เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ (Nestlé Waters cares for Water) โดยวางเป้าสร้างระบบนิเวศในแหล่งชุมชนให้มีความยั่งยืน และให้ผู้คนในชุมชนสามารถมีความรู้ในการรักษาแหล่งน้ำเอาไว้ด้วยวิธีการที่ถูกหลัก กระทั่งสามารถเปลี่ยนแหล่งน้ำในชุมชนที่สีคล้ำ ให้กลับมาเป็นแหล่งน้ำที่ใสสะอาดได้อีกครั้ง

โดยจุดหมายแรกที่ทางบริษัท เนสท์เล่ เริ่มเป็นที่แรกในการเข้ามารับฟังและช่วยพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนให้กลับมาสะอาดอีกครั้งคือ จังหวัดอยุธยา ในพื้นที่ ‘คลองขนมจีน’ บริเวณที่ WWF กล่าวถึงไว้ว่า ‘น้ำ’ คือลมหายใจของชุมชนชาวขนมจีน

ในอดีต คลองขนมจีนประสบปัญหาน้ำในคลองไม่สะอาด มีขยะหลายชนิด และวัชพืชสะสมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งผ่านเวลามาหลายยุคสมัย แต่ปัญหามลพิษในแหล่งน้ำไม่ได้รับการแก้ไข พฤติกรรม หรือวิถีการใช้ชีวิตของคนในชุมชนก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

นายสุชาติ พันธุ์เพ็ง ตัวแทนชุมชนคลองขนมจีน

สมัยก่อน อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนคลองขนมจีน มักนิยมสร้างบ้านหันหน้าเข้าหาแม่น้ำลำคลอง ทว่าขณะนี้ บ้านส่วนใหญ่หันหน้าเข้าถนนหมดแล้ว เพราะมีการจราจรที่สะดวกกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือ แม่น้ำลำคลองไม่มีประโยชน์ใช้สอยใดใด แถมยังเต็มไปด้วยผักตบชวาทอดกายเกลื่อนกลาด เรือสักลำจะแล่นก็แล่นได้ไม่ถนัด

ผักตบชวาปกคลุมผิวน้ำ ทำเรือแล่นผ่านไม่ได้

ผักตบชวาปกคลุมผิวน้ำ ทำเรือแล่นผ่านไม่ได้

วิธีการที่บริษัท เนสท์เล่ นำปฏิบัติกับชุมชนคลองขนมจีนหลัก ๆ สามารถแตกออกได้เป็น 4 โครงการหลักได้แก่

  1. โครงการเยาวชนพิทักษ์น้ำ

โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียนและคนในชุมชน เรื่องการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรน้ำในคลองขนมจีน ปัจจุบันมีนักเรียนและคนในชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วมแล้วกว่า 6,000 คน

โครงการเยาวชนพิทักษ์น้ำ Cr. WWF

  1. ตลาดนัดขยะชุมชน

จัดการขยะในระดับครัวเรือน ด้วยการเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะในแหล่งน้ำอีก ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนคลองขนมจีนสามารถสร้างรายได้จากขยะจำนวน 12 ตัน ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 9,600 กิโลคาร์บอน

  1. เนสท์เล่รักษ์ชุมชน ผักตบชวาสู่รายได้

อย่างที่กล่าวไป คลองขนมจีนมีผักตบชวนขึ้นมากเสียจนทำให้ไม่สามารถสัญจรบนแหล่งน้ำได้ จึงเกิดไอเดียนำผักตบชวนมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์เช่น โต๊ะ เก้าอี้

จากนั้นก็ส่งต่อให้กับ 7 โรงเรียนที่เข้าร่วมกับทางเนสท์เล่ โดยเป้าประสงค์ก็คือ การสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและกำจัดวัชพืชอย่าง ‘ผักตบชวา’ ออกไปจากแหล่งน้ำ เพื่อคืนแม่น้ำลำคลองที่สะอาดเกลี้ยงแบบที่เคยเป็นในอดีต

โต๊ะทำจากผักตบชวา

โต๊ะทำจากผักตบชวา

  1. เนสท์เล่รักษ์น้ำ คืนปลาสู่คลองขนมจีน

เมื่อแหล่งน้ำไม่มีความอุดมสมบูรณ์มากเพียงพอสำหรับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ บรรดาปลาหายากทั้งหลายก็ย้ายถิ่นฐานไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ บ้างก็รอด บ้างก็ปรับตัวกับแหล่งน้ำใหม่ และปัจจัยใหม่ ๆ ไม่ได้จนตายไป ทำให้ปลาที่เคยมีอยู่ในอดีตของคลองขนมจีนหายไปเป็นจำนวนมาก

เนสท์เล่จึงได้มีการจัดทำบ่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นหายากจำนวน 6 สายพันธุ์ได้แก่ ปลากระทิง ปลาหลดนา ปลารากกล้วย ปลาหมูแดง ปลากราย และปลาแดง เพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้กับแห่งน้ำ และทำให้ระบบนิเวศของคลองขนมจีนกลับมาสมบูรณ์พร้อมอีกครั้ง

แต่ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ชุมชนเดียวที่กำลังประสบปัญหาแหล่งน้ำเสียในชุมชน ยังมีอีกหลากหลายพื้นที่ ที่ยังไม่ได้รับการมองเห็น อีกทั้งคนในท้องถิ่นยังไม่มีความรู้ในการจัดการกับแหล่งน้ำที่ถูกต้อง

ตามแต่ละพื้นที่ไม่สามารถใช้ระบบเดียวกันในการเข้าไปจับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยและที่มาของปัญหาของแต่ละพื้นที่ล้วนแตกต่างกัน

เราจำเป็นต้องลงไปศึกษาอย่างละเอียด เพื่อมองให้ถึงแก่นของปัญหา จากนั้นหาทางพัฒนาคุณภาพของแหล่งน้ำ และวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนในระยะยาวได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น สำหรับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมรับฟังปัญหา วางแผน และดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ จนสามารถทำให้แหล่งน้ำในชุมชนเปลี่ยนจากแหล่งมลพิษ

ให้กลับกลายมาเป็นแหล่งรวมชีวิตของคนในชุมชนอีกครั้ง หากหลาย ๆ ภาคส่วนให้ความร่วมมือ พร้อมลงมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เชื่อว่าแหล่งน้ำและชุมชนอีกมากมายทั่วประเทศไทย จะถูกยกระดับมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

        สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ

เนื้อหาที่น่าสนใจ

 

 

related