svasdssvasds

จากเสียง "ปั๊ม ปั๊ม ปั๊ม ป่าม" ของเบโธเฟน สู่โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร

จากเสียง "ปั๊ม ปั๊ม ปั๊ม ป่าม" ของเบโธเฟน สู่โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร

เชื่อว่าอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ทุกคนต้องได้ยินเสียงโน้ต 4 ตัวนี้ “G-G-G-F” หรือ “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม” ผ่านหูกันมาบ้าง ซึ่งเป็นท่อนเปิดสุดคลาสสิคจาก ซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 ของ “เบโธเฟน” อัจฉริยะคีตกวี ผู้จากโลกนี้ไปในวัย 56 ปีพร้อมกับอาการ “หูหนวก”

SHORT CUT

  • เบโธเฟน ในวัย 17 ปี ได้ทำการแสดงสดต่อหน้าโมสาร์ทเป็นครั้งแรก ฝีมือฉกาจถึงขั้น โมสาร์ทเอ่ยปากออกมาว่า “จงจับตาดูเด็กน้อยคนนี้ไว้ให้ดี วันหนึ่งเขาจะดังก้องไปทั่วโลก”
  • ซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 คือบทเพลงออเชรสตร้าที่เบโธเฟนแต่งขึ้นช่วงที่เขากำลังหูหนวก และแต่งเพื่อหล่อเลี้ยงความหวังในชีวิตอันเศร้าหม่นนี้
  • เสียง “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม" กลับมาอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปลุกใจคนในชาติ (อังกฤษ) วินสตัน เชอร์ชิลก็ชูสัญลักษณ์ตัว V ด้วย

เชื่อว่าอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ทุกคนต้องได้ยินเสียงโน้ต 4 ตัวนี้ “G-G-G-F” หรือ “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม” ผ่านหูกันมาบ้าง ซึ่งเป็นท่อนเปิดสุดคลาสสิคจาก ซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 ของ “เบโธเฟน” อัจฉริยะคีตกวี ผู้จากโลกนี้ไปในวัย 56 ปีพร้อมกับอาการ “หูหนวก”

เปิดประวัติ “เบโธเฟน” คีตกวีอัจฉริยะ แห่งศตวรรษที่ 18

ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน (Ludwig van Beethoven) หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “เบโธเฟน” เกิดในปี ค.ศ. 1770 ที่กรุงบอนน์ อดีตเมืองหลวงของเยอรมันตะวันตก ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ไทย เขามีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เบโธเฟน คีตกวีเอกของโลก

เบโธเฟนเป็นเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่แร้นแค้น มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน แถมพ่อก็ชอบเสพสุรา เขาถูกพ่อบังคับให้เล่นเปียโนตั้งแต่ 4 – 5 ขวบ ด้วยหวังว่าอยากให้ลูกชายเดินรอยตามโมสาร์ท (เกิดห่างกัน 15 ปี) ทำให้หนูน้อยเบโธเฟนหาเงินเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

“จงจับตาดูเด็กน้อยคนนี้ไว้ให้ดี วันหนึ่งเขาจะดังก้องไปทั่วโลก” โมสาร์ท

มีเรื่องเล่าว่า ในวัย 17 ปี เบโธเฟนมีโอกาสได้แสดงความอัจฉริยะในการเล่นเปียโนต่อหน้าโมสาร์ทเป็นครั้งแรก “เด็กคนนี้มีของจริง ๆ” หลังจากนั้น เบโธเฟนก็มีโอกาสได้ฝึกปรือวิชากับคีตกวีเก่ง ๆ ในยุคนั้นอีกหลายคน จนฝีมือการเล่นหรือเขียนเพลงของเขาก้าวสู่ระดับท็อปเทียร์

จากเสียง "ปั๊ม ปั๊ม ปั๊ม ป่าม" ของเบโธเฟน สู่โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร

เบโธเฟน "หูหนวก"

ในปี 1790s ชื่อเสียงของเบโธเฟนเริ่มกระฉ่อนไปทั่วกรุงเวียนนา เพียงเวลาไม่นานหนุ่มวัย 20 ต้น ๆ ก็สถาปนาตนเองกลายเป็นสุดยอดคีตกวีไปเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นเขาก็เริ่มเดินสายแสดงความฉกาจด้านการเล่นเปียโน และทักษะการทำเพลงที่หาตัวจับยากในยุคสมัยนั้น

กระทั่ง 6 ปีต่อมา เบโธเฟนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะหูหนวก “ผมต้องสารภาพว่าชีวิตผมช่างน่าสังเวชเหลือเกิน นี่ก็ 2 ปีได้แล้ว ที่ผมไม่ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ผมไม่รู้จะคุยกับคนอื่นยังไง เพราะผมกำลังหูหนวก”

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เบโธเฟนสิ้นใจไปในวันที่ 26 มี.ค. 1827 นายแพทย์ โยฮันเนส วากเนอร์ ได้ทำการชันสูตรศพของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่รายนี้ และพบว่าช่องท้องมีอาการบวม ตับหดตัวเล็กลงประมาณ 1 ใน 4 ของไซส์ปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่า เขาเป็นโรคตับแข็ง

แล้วมันเกี่ยวข้องกับหูยังไง ในบันทึกระบุไว้ 2 ทฤษฎีคือ อาการหูหนวกของเบโธเฟนเกิดจากโรคระบบการย่อยอาหาร หรืออีกทฤษฎีที่บอกว่า เขาอาจเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด หรือ Congenital Syphilis ซึ่งคาดว่าได้รับเชื้อมาจากแม่ที่ติดโรคก่อนจะมีเขา

กระทั่งในปี 1818 ที่เบโธเฟนย้ายออกจากรุงเวียนนาไปอาศัยอยู่ชนบทที่เงียบสงบ เขาเริ่มฟังคนพูดไม่รู้เรื่อง และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เพราะเศร้าโศกกับปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า อาหารหูหนวก แต่ด้วยความที่ยังรักดนตรี เบโธเฟนก็ยังไม่เลิกสร้างสรรค์ผลงาน จนนำมาสู่ “Symphony No.5” บทเพลงท้าย ๆ ก่อนที่เขาจะหูหนวกตลอดกาล

จากเสียง "ปั๊ม ปั๊ม ปั๊ม ป่าม" ของเบโธเฟน สู่โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร

ซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 กับโชคชะตาที่มาเคาะประตูถึงบ้าน

พูดกันง่าย ๆ คือ เป็นการบรรเลงเพลงด้วยวงออร์เคสตร้า ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิด อาทิ เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าทองเหลือง และเครื่องเคาะจังหวะ ใน 1 วงออร์เครสต้าสามารถมีนักดนตรีได้ตั้งแต่ 20 คนไปจนถึงหลักร้อย

Symphony โดยเบโธเฟนมีด้วยกันทั้งหมด 9 บท ซึ่งเจ้าตัวเรียกซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 ว่า “Fate knocking at the door” อย่างที่บอกว่าช่วงที่ประพันธ์เพลงนี้ หูของเขาเริ่มไม่ได้ยินแล้ว เขาจึงนิยามว่าโน้ต 4 ตัว เหมือนกับเสียงเคาะประตู หรือพูดให้ถูกคือ โชคชะตาที่เผชิญ (หูหนวก) คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มาเคาะประตูเรียกกันถึงหน้าบ้าน

ซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 ประกอบไปด้วยสี่กระบวน (movement) ซึ่งหลังจากที่โลดแล่นเหนือกาลมากว่า 200 ปี แต่ละท่อนก็ถูกผู้ฟังบรรยายเอาไว้หลากหลาย แต่ในกระแสหลักว่าไว้แบบนี้

  • ท่อนแรก Allegro con brio (C minor) คือการเปิดประตูไปสู่ดินแดนอันน่าพิศวง เผชิญกับความมืดมิด เหมือนมีคนกำลังจ้องมองมา คุณเป็นใคร เข้ามาทำอะไร ณ พื้นที่แห่งนี้ แต่ไม่นาน ก็จะฉงนสงสัย ต้องการหาคำตอบในโลกที่ไม่รู้อะไรเลย
  • ท่อนสอง Andante con moto (A♭ major) คือสภาวะที่ปรับตัวกับดินแดนแห่งนี้ได้แล้ว เริ่มคุ้นชินกับตรอกซอกซอย และพร้อมที่จะก้าวไปยังสถานที่ใหม่อย่างมาดมั่น
  • ท่อนสาม Scherzo: Allegro (C minor) เสมือนเป็นดินแดนแห่งใหม่ ทว่า ยังอยู่ที่เดิม เหมือนเดินตามเสียงเพรียกจากโชคชะตามาเรื่อย ๆ ในท่อนนี้ จะได้ยิน “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม” อีกครั้ง ทว่า นวลหูกว่าครั้งแรก อาจมีความหมายว่า ความหวาดกลัวที่วิตกมานานนมเป็นสิ่งที่คิดไปเอง
  • ท่อนสี่ Allegro (C major) ฉากจบอันงดงามและเรียบง่าย โลกก็เป็นของมันเช่นนี้ ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว ทุกอย่างจิตเราปรุงแต่งไปเองทั้งนั้น เป็นการจบด้วยแสงสว่างที่ห่อหุ้มความหวัง ให้กับตัวเบโธเฟนเอง ว่าเขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเอง

Symphony No.5 คืนชีพอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2

ต้องบอกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ถือเป็นเรื่องปกติยามเกิดสงคราม ตัวอย่างเช่น ฝ่ายอักษะ ที่มีเยอรมันภายใต้การปกครองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นหัวขบวนอยู่ ณ เวลานั้น ก็มีรายการวิทยุโฆษณาชวนเชื่อชื่อว่า "German Calling"

เป็นรายการทางวิทยุ ที่พูดเป็นภาษาอังกฤษ (โดยคนเยอรมัน) ออนแอร์ในอังกฤษ รวมถึงสหรัฐฯ โดยมีจุดประสงค์คือกล่อมเกลา ปั่นหัว หรือชักจูงให้กลุ่มคน อาทิ นายทุน ชาวยิว นักการเมือง หรือหนังสือพิมพ์หัวต่าง ๆ ขุ่นเคืองและต่อต้านอังกฤษ

ลอร์ด ฮอว์-ฮอว์

ว่ากันว่าใน 1 วัน German Calling ใช้เวลาออกอากาศนานถึง 11 ชม. เลยทีเดียว ซึ่งผู้ประกาศที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น วิลเลียม จอยซ์ หรือที่คนอังกฤษอาจรู้จักในนาม ลอร์ด ฮอว์-ฮอว์ (Lord Haw-Haw)

กลับมาที่ฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษ ณ เวลานั้น ได้นำโน้ต 4 ตัวของเบโธเฟนมาใช้มัวเมาคนเช่นเดียวกัน ซึ่งโน้ต “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม” นี้เอง หากนำไปเข้าเครื่องแปรรหัสมอสจะได้เป็นตัว V ซึ่งตรงกับเลข 5 ในภาษาโรมัน หรือเป็นคำว่า “Victory” นั่นเอง

โปสการ์ดบรรจุโน้ต 4 ตัว จากซิมโฟนี่หมายเลขที่ 5 เครดิตภาพ Scilicet

ท่ามกลางไฟสงคราม อังกฤษก็ต้องสร้างความเชื่อมันให้กับคนในประเทศ โดยเวลานั้น วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรี ก็ยังชูนิ้วเป็นรูปตัว V เพื่อแสดงถึงความไม่กลัวเกรงต่อขั้วตรงข้าม

วินสตัน เชอร์ชิล เครดิตภาพ Flickr

นอกจากนี้ สำนักข่าว BBC ก็ได้นำเสียง “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม” มาใช้เป็น Intro ก่อนเริ่มรายการเพื่อเป็นการปลุกใจ และย้ำเตือนถึงการเข้าใกล้ชัยชนะ ซึ่งพอเปลี่ยนจากเสียงเปียโนเป็นเสียงเพอร์คัชชั่น จากฝีมือการบรรเลงของเจมส์ เบลดส์ กลับชวนหวาดผวา และน่ากลัวยังไงชอบกล

 

ที่มา: wargaming, historic-uk, raremeat, Popularbeethoven, vox

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related