svasdssvasds

หลานม่า (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจ จากเรื่องจริงที่มีทุกครอบครัว

หลานม่า (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจ จากเรื่องจริงที่มีทุกครอบครัว

"หลานม่า" (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่บันทึกช่วงเวลาที่มีค่า ของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว ได้แรงบันดาลใจมาจาก "คนเขียนบท" ที่จะทำให้ลูกหลานร้องไห้จนอยากกลับไปกอดคนที่รออยู่ที่บ้าน

SHORT CUT

  • เรื่องย่อ หลานม่า ภาพยนตร์ไทยแนวแฟมิลี่ดราม่า GDH

  • หลานม่า ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก "คนเขียนบท"

  • หลานม่า หนังที่บันทึกช่วงเวลาที่มีค่า ของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว

"หลานม่า" (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่บันทึกช่วงเวลาที่มีค่า ของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว ได้แรงบันดาลใจมาจาก "คนเขียนบท" ที่จะทำให้ลูกหลานร้องไห้จนอยากกลับไปกอดคนที่รออยู่ที่บ้าน

จากตัวอย่าง "หลานม่า (LAHN MAH)" ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก GDH หนังแนวแฟมิลี่ดราม่าที่จะทำให้ลูกหลานร้องไห้จนอยากกลับไปกอดคนที่รออยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นการเดบิวต์ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ "บิวกิ้น พุฒิพงศ์" ที่จะมาประชันบทบาทกับ "ดู๋ สัญญา คุณากร", "เผือก พงศธร จงวิลาส", "เจีย สฤญรัตน์ โทมัส", "ตู ตะวัน ตันติเวชกุล" และขอแนะนำนักแสดงหน้าใหม่ วัย 76 ปี "แต๋ว อุษา เสมคำ" โดยผลงานผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรง "พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์" ที่เคยฝากผลงานไว้ใน ซีรีส์ ฉลาดเกมส์โกง 

เรื่องย่อ หลานม่า (LAHN MAH)

เอ็ม (บิวกิ้น พุฒิพงศ์) ตัดสินใจดรอปเรียนตอนปีสี่ เพื่อมาเอาดีทางการแคสต์เกมแต่ทำยังไงก็ไม่รุ่ง เอ็มเลยคิดว่าจะรวยด้วยการทำงานสบายๆ แบบ มุ่ย (ตู ต้นตะวัน) ลูกพี่ลูกน้อง ที่รับหน้าที่ดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้าย จนกลายเป็นทายาทเพียงคนเดียวที่ได้รับมรดกเป็นบ้านราคากว่าสิบล้านเส้นทางเศรษฐีอยู่ตรงหน้า เอ็มจึงอาสาไปดูแลอาม่า (แต๋วแอุษา เสมคำ) ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และน่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินปี โดยหวังว่าจะได้รับมรดกหลักล้านเช่นกัน

เมื่อหลานกับอาม่าที่อายุห่างกันกว่า 50 ปี ต้องมาอยู่ร่วมกัน การต่อปากต่อคำจึงเกิดขึ้นในทุกโมเมนต์แต่มันกลับเป็นช่วงเวลาที่ให้อาม่าลืมเหงาจากการเฝ้ารอลูกชายคนโต กู๋เคียง (ดู๋ สัญญา) ลูกสาวคนกลางอย่าง แม่ของเอ็ม (เจีย สฤญรัตน์) และลูกชายคนเล็กอย่าง กู๋โส่ย (เผือก พงศธร) ที่จะมาพร้อมหน้ากันตามเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจากงานที่เริ่มต้นทำเพราะหวังรวย จะทำให้คนห่วยๆ อย่างเอ็มได้รู้ว่าคำว่า "ครอบครัว" มีค่ามากกว่าเงิน

"หลานม่า" หนังที่ได้แรงบันดาลใจจากคนเขียนบท

"หลานม่า" เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกช่วงเวลาที่มีค่า ของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว ได้แรงบันดาลใจมาจาก "คนเขียนบท" ที่ต้องกลับไปดูแลอาม่าที่อายุต่างกันเกือบ 50 ปี เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายแต่กลับโดนใจ เพราะมันคือการบันทึกความผูกพันของครอบครัวใหญ่ที่นับวันจะหายไปจากสังคมไทย และซึ้งจน 2 โปรดิวเซอร์อย่าง "เก้ง จิระ มะลิกุล" และ "วัน วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์" หยิบมาทำเป็นภาพยนตร์

"วัน วรรณฤดี" เผยว่า "ไอเดียนี้เริ่มจาก เป็ด ทศพล ทิพย์ทินกร ซึ่งเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ของจีดีเอช มาแล้วหลายเรื่อง เดินมาบอกเราว่าอยากลองเขียนบทเรื่องราวของตัวเองที่กลับไปดูแลอาม่าที่ป่วย ซึ่งวันกับพี่เก้งรู้สึกว่าเป็ดเป็นคนเขียนบทที่มีอินเนอร์ในการเขียนเรื่องครอบครัวที่ดีมาก และเราชอบไอเดียนี้ของเป็ดมาก ๆ จึงช่วยกันพัฒนาบทหนังเรื่องนี้จนกลายเป็น หลานม่า ที่จะเราได้ชมกันเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นฝีมือการกำกับของ พัฒน์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ และหนังเรื่องนี้จะทำให้พัฒน์ได้โชว์ศักยภาพของเขาออกมาอย่างเต็มที่ รวมถึงนักแสดงทุกคน ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด"

ด้าน "เก้ง จิระ" เผยว่า "จำได้ว่าตอนที่เป็ดส่งบทเรื่องนี้มา ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดระบาดแรกๆ ที่เราต้องล็อกดาวน์อยู่ที่บ้าน ทำให้เราต้องเขียนบทผ่านการ Zoom เป็นครั้งแรก ช่วงนั้นออกไปไหนยากมาก เพราะหน้ากากอนามัย และ ATK หายากมาก และเป็นช่วงที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการเป็นโควิดกันเป็นจำนวนมาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราควรทำที่สุด คือ การอยู่บ้าน และดูแลคนในครอบครัว

หลานม่า (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจ จากเรื่องจริงที่มีทุกครอบครัว

ยิ่งพอเราได้มาอ่านบทหนังเรื่องนี้เรารู้สึกว่า จริง ๆ อาม่าคือคนข้างเคียงที่เรามองข้ามไปในชีวิตจริงเหมือนกัน แกเป็นคนที่เคยเลี้ยงดูเรามาตอนเราเป็นเด็ก ตอนที่ร่างกายแกยังแข็งแรง  แต่พอวันเวลาผ่านไป อาม่ากลายเป็นคนเสื่อมถอยทางด้านร่างกาย แล้วเราก็ลืมไปว่าแกก็คือคนหนึ่งที่ใกล้ชิดเรามาในตอนเด็ก ๆ ตลอดระยะเวลาในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ ทำให้เราได้กลับไปคิดถึงอาม่า คิดถึงญาติผู้ใหญ่ในชีวิตของเราอีกหลาย ๆ คน ซึ่งมันดีมากๆ"

หลานม่า (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจ จากเรื่องจริงที่มีทุกครอบครัว

อย่างไรก็ตามจากภาพยนตร์ "หลานม่า" เป็นเรื่องราวของหลานกับอาม่าที่อายุห่างกันกว่า 50 ปี ต้องมาอยู่ร่วมกัน และเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ "สปริงบันเทิง" มีข้อมูลจากโรงพยาบาลนครธนสำหรับการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุให้ราบรื่น โดยมี 3 เรื่องที่ต้องเตรียมตัว ดังนี้

การเตรียมตัวด้านความรู้ ความเข้าใจผู้สูงอายุ

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกาย อารมณ์ และสภาพจิตใจของท่านก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามไปด้วย ทุกการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม และอาจส่งผลกระทบกับผู้ดูแลและครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายนั้น จะเป็นประตูบานแรกที่เชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ดูแลและผู้สูงอายุให้เข้าใจกันได้อย่างดีที่สุด เช่น ผู้สูงอายุจะมีการได้ยินไม่ค่อยชัด ผู้ดูแลก็ต้องพูดเสียงดังขึ้น พูดย้ำหลายรอบ บางท่านมีอาการหลงๆ ลืมๆ ก็จะคอยถามคำถามเดิมอยู่ซ้ำๆ หรือเล่าแต่เรื่องเดิม ๆ วนเวียนวันละหลายรอบ เป็นต้น

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายแล้ว ด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษจนส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และจะพาลส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนแรง จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมและตั้งรับทั้งตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น ผู้สูงอายุจะมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจเกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม ผู้สูงอายุจะชอบคิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซาก ลังเล หวาดระแวง หมกมุ่น เรื่องของตัวเอง ทั้งเรื่องในอดีต ปัจจุบัน อนาคตและส่วนใหญ่จะกังวลว่าลูกหลานจะทอดทิ้ง บางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เอาแต่ใจตนเอง ทำตัวเหมือนเด็กหรือวัยรุ่น หรือที่เรียกว่า “วัยกลับ” ซึ่งนิสัยเหล่านี้อาจทำให้หลายคนหนักใจและเกิดความเบื่อหน่ายได้ เป็นต้น

การเตรียมตัวทางด้านสุขภาพร่างกาย

การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องใช้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ภายในบ้าน เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแอโรบิก โยคะ หรือหาเวลาออกกำลังกายนอกบ้านให้ได้เหงื่อ เช่น วิ่ง เดินเร็ว

การเตรียมตัวทางด้านจิตใจ อารมณ์

ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเลย ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุอาจทำให้ผู้ดูแลมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รวมถึงเบื่อหน่ายเนื่องจากมีเวลาส่วนตัวน้อยหรือออกไปติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้น้อยลงจนเกิดเป็นความเครียด รู้สึกไม่มีความสุขได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ป่วยช่วยเหลือตนเองแทบไม่ได้ ผู้ป่วยสูงอายุที่นอนติดเตียง ดังนั้นการปรับทัศนคติและยอมรับสถานภาพด้วยความเต็มใจ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการตอบแทนผู้มีพระคุณเป็นช่วงที่ได้ใช้เวลาร่วมกันสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน ก็จะทำให้ความเครียดและความกดดันนั้นผ่อนคลายลงไปได้

หลานม่า (LAHN MAH) ภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจ จากเรื่องจริงที่มีทุกครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related