svasdssvasds

หมอธีระวัฒน์ ชำแหละปัญหา "หมอจบใหม่ลาออก" ชี้ช่วงใช้ทุนคือช่วงทรมานที่สุด

หมอธีระวัฒน์ ชำแหละปัญหา "หมอจบใหม่ลาออก" ชี้ช่วงใช้ทุนคือช่วงทรมานที่สุด

"หมอธีระวัฒน์" ชำแหละปัญหา หมอ intern "หมอจบใหม่ลาออก" เผยแพทย์ใช้ทุนคือช่วงที่ทรมานที่สุด ต้องผ่าตัดคนไข้ทั้งที่ติดเชื้อในกระแสเลือดไข้สูง 40 องศา

 จากประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียที่ตอนนี้คนจับตามองประเด็น "หมอจบใหม่ลาออก" จะมีการแก้ไขกันอย่างไร รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ บางรายแบกรับหน้าที่เกินกำลังความสามารถ จนทำให้หลายๆ คนตัดสินใจลาออก ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

 ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงปรากฎการณ์ "หมอ intern" ลาออก โดยระบุว่า

 คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก คับทั้งที่คับทั้งใจ..แล้วหมอกับคนไข้จะเป็นอย่างไรจากคุณหมอเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ พูดแทนหมู่บุคลากรการแพทย์ รวมทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร  ผู้เขียนแม้ไม่ใช่ตัวแทนของแพทย์ทั้งประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ผ่านระบบการใช้ทุนมายาวนานเกินกว่า 9 ปี ตามสัญญา 

 อีกทั้งยังเป็นแพทย์ในสาขาที่น่าจะได้ชื่อว่างานหนักที่สุด เคยต้องผ่าตัดสมองผู้ป่วยถึงวันละ 9 รายติดต่อกัน เคยต้องอดนอนหรือหลับนกติดต่อกัน 3-4 วัน เคยต้องผ่าตัดคนไข้ทั้งๆ ที่ตัวเองมีไข้มากกว่า 40 องศา อีกทั้งยังเป็นคนที่ญาติผู้ป่วยมาฝากผีฝากไข้ โดยหารู้ไม่ว่าหมอคนนี้ต้องผ่าสมองคนไข้ทั้งที่ตัวเองติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่ เคยต้องไปขอโทษญาติคนไข้ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไร แต่ต้องทำเพราะผู้ใหญ่ต้องการให้เรื่องจบเร็ว ๆ ที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สรุปให้ ปัญหาขาดแคลนแพทย์ "หมอจบใหม่ลาออก" โหมงานหนักชั่วโมงทำงานมาก

• กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับ "หมอขาดแคลน" ทำงานโหลดจริง เผยจบใหม่ลาออกกว่า 900 คน

• เปิดตัวเลข จำนวนแพทย์ จากแพทยสภา ชีวิต "เดอะแบก" : หมอลาออกจากระบบเพียบ

 ประเด็นแรก ช่วงแรกของแพทย์ใช้ทุนคือช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์ ระบบสาธาณทุกข์ของบ้านเรา ส่งแพทย์ที่มีความรู้ทางปฏิบัติน้อยที่สุด ประสบการณ์น้อยที่สุด ไปรับมือผู้ป่วยในที่ที่มีความพร้อมของระบบน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องฉุกเฉิน หรือ โรงพยาบาลชุมชน 

 ซึ่งแท้จริงแล้วต้องการแพทย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในการรับมือสารพัดความต้องการของผู้ป่วยและญาติ เมื่อรับมือไม่ไหว ก็เกิดปรากฎการณ์ แห่ศพประท้วง เรียกร้องขอเงินหรือประจานลง Social media  ทั้งๆ ที่แพทย์พยาบาลล้วนทำงานกันเกินมนุษย์เพื่อสนองตอบนโยบายประชานิยมของนักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงตุนไว้ตลอดชาติ 

 ประเด็นถัดมา คือ ระบบกำหนดให้แพทย์พยาบาลเหลืออยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อหวังให้มีคนช่วยงานบ้านมาก ๆ พร้อมกับตั้งความหวังว่า ลูก(ทาส)เหล่านี้จะทำงานบ้านอย่างเต็มใจ ยิ้มแย้ม ต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนถึงเรือนบ้านด้วยหัวใจมนุษย์ นึกภาพไม่ออกว่า ระบบมันจะดีขึ้นได้อย่างไร จำนวนแพทย์พยาบาลที่มากขึ้นโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านี้จะมีกะจิตกะใจที่จะทำงานถวายหัวให้องค์กร  ใช้แรงงานโดยไม่สนใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของกรรมกรชุดขาวเหล่านี้  

 ประเด็นสุดท้าย ที่มีคนถามกันมากมายว่า เหตุใดจึงมีเฉพาะบุคลากรสายสาธารณสุขเท่านั้นที่ต้องถูกบังคับให้ใช้ทุน ทำไมนักศึกษาในสาขาอื่น ๆ ที่รัฐต้องจัดงบอุดหนุนให้กับทุกคณะในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถึงไม่ต้องมีพันธะเช่นนี้  จำได้ว่าเมื่อก่อนรัฐประหาร เกิดปัญหาขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถหาตำแหน่ง(ทุน) ให้กับแพทย์ที่ต้องการมาเรียนต่อเฉพาะทาง(แพทย์ประจำบ้าน) เหตุเพราะต้องจัดสรรตำแหน่งให้กับแพทย์จบใหม่ซึ่งกำลังจะถึงปีละ 4,000 คนในไม่ช้านี้

 ในขณะที่ ก.พ.เองก็ฮึ่มๆ มาตลอดว่าไม่มีตำแหน่งให้อีกแล้ว รมต.สธ.ในขณะนั้นจึงได้เสนอแนวคิดให้ยกเลิกการใช้ทุน (มิใช่แพทยสภาเสนออย่างที่มีคนปลุกปลั่นกัน) เหตุเพราะเห็นความจำเป็นในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดสามารถบรรจุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ถึงแม้ไม่บังคับให้แพทย์ใช้ทุน แต่ "หมอ intern" เหล่านี้ก็ไม่สามารถไปทำงานในภาคเอกชนได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ต้องการ (ยกเว้นไปเปิดคลินิกเสริมสวยเอง ซึ่งเงินห้าล้านก็ไม่แน่ว่าจะเอาอยู่)

 นอกจากนี้แพทยสภาในขณะนั้นยังได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับฝ่ายการเมืองด้วยการออกกฎว่า แพทย์ที่ต้องการศึกษาต่อเฉพาะทางต้องผ่านการทำงานให้โรงพยาบาลรัฐไม่น้อยกว่า 1-3 ปี ด้วยวิธีนี้ โรงพยาบาลของรัฐในต่างจังหวัดก็จะสามารถได้แพทย์ไปทำงานพร้อมกับหาประสบการณ์ไปด้วย (ระยะหลังจะมีระบบใช้ทุนโดยทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเต็มใจร่วมหอลงโรงกัน) หากขึ้นค่าปรับเป็นหลัก 5,000,000 บาท เชื่อว่าอาจมีกรณีฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายบริหารต้องเตรียมคำตอบไว้ดีๆ เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่คงไม่ยอมให้ลูกตนเองติดคุกง่ายๆ ในระบบที่เต็มไปด้วยความไม่พร้อมเช่นนี้

 ขอย้ำว่า ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าปรับกรณีเบี้ยวทุน แต่ปัญหาที่หมักหมมในระบบสาธารณสุขทุกวันนี้ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดใหญ่ในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องภาระงาน การสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง แนวคิดของนักกฎหมายที่มีมุมมองว่า การช่วยชีวิตคนเป็นสินค้าหรือบริการที่มุ่งหากำไร เอารัดเอาเปรียบ ล้วนแต่ทำให้นักโทษชุดขาวเหล่านี้ต่างมองหาโอกาสในการแหกคุก ไม่ว่าคุกนั้นจะแน่นหนาสักเพียงไร แทนที่จะสร้างคุกกักกันดั่งป้อมปราการ ทำไมผู้บริหารที่ผ่านมาถึงไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนคุกเป็นคอนโดสุดหรู ที่ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย ต่างแย่งกันเข้ามาอยู่อาศัย เมื่อไรเราจะมีรัฐบุรุษในระบบสาธารณสุข 

ที่มา : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

related