svasdssvasds

สรุปให้ ปัญหาขาดแคลนแพทย์ "หมอจบใหม่ลาออก" โหมงานหนักชั่วโมงทำงานมาก

สรุปให้ ปัญหาขาดแคลนแพทย์ "หมอจบใหม่ลาออก" โหมงานหนักชั่วโมงทำงานมาก

สรุปให้ กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับเหตุผลแพทย์ที่ลาออก มีภาระงานหนัก และมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่อง รวมถึงผลสำรวจพบมีกว่า 65 แห่งที่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขต้องทำงานเกินกว่า 40 ชั่วโมง

จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" ได้ออกมาเปิดเผย เรื่องราวของ "หมอจบใหม่ลาออก" เจองานหนัก คุณภาพชีวิตแย่ สุดท้ายทนไม่ไหวลาออกกันระนาวกว่า 900 คน เหลือในระบบแค่ 1,800 จาก 2,700 คน โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

“ซีรีส์หมอจบใหม่ลาออก มีกระแสหมอจบใหม่ลาออกกันเยอะ (ทั้งก่อนเริ่มงาน และหลังใช้ทุนครบหนึ่งปี) โดยสรุป งานหนัก คุณภาพชีวิตย่ำแย่ (อยู่เวรเยอะ, ไม่ได้พักผ่อน) งานเกินหน้าที่ (งานคุณภาพ, งานบริหาร) สวัสดิการแย่ (บ้านพัก) เงินออกช้า (3 เดือนขึ้นไป) ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง สตาฟ, รุ่นพี่ เอาเปรียบ คนไข้กดดัน ความคาดหวังสูง ไม่เห็นวี่แววความใส่ใจ ความเปลี่ยนแปลง"

 ไม่เฉพาะหมอ แต่รวมถึงหน้าที่อื่นๆ ใน รพ. พยาบาล, เภสัช, เทคนิคการแพทย์, กายภาพ เวลาที่หมอ หรือเจ้าหน้าที่ รพ. บ่น จะต้องมีใครสักคนที่บอกว่าทนไม่ไหวก็ลาออกไป นี่ไงลาออกไป 1/3 จากทั้งหมด - 2,700 คน ออกไป 900 คน

 ทั้งนี้การที่ "หมอจบใหม่ลาออก" จากโรงพยาบาลต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สาขาวิชาชีพ "แพทย์" กำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก โดยอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทย "แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน"

จากข้อมูล สถิติแพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 พบว่า มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็น

• ชาย 39,207 คน

• หญิง 33,043 คน

 จากข้อมูลระบุว่า แพทย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 68,725 คน แบ่งเป็น

• ชาย 36,401 คน

• หญิง 32,324 คน

นอกจากนี้ยังจำแนกเป็น แพทย์ที่ยังสามารถติดต่อได้จำนวน 66,685 คน

• ชาย 34,953 คน

• หญิง 31,732 คน

จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ใน กทม. มีจำนวน 32,198 คน

• ชาย 17,039 คน

• หญิง 15,159 คน

จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวน 34,487 คน

• ชาย 17,914 คน

• หญิง 16,573 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รู้จัก ปุยเมฆ นภสร ดาราสาวดีกรีคุณหมอ หลังลาออกจาก รพ.รัฐ เพราะระบบหนัก

• "หมอนิธิพัฒน์" เตือนโควิดกลับมาระบาด ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 200% ป่วยหนัก 500 ราย

• สรุปให้ "ดีลลับ เกาะลังกาวี" คืออะไร รัฐบาลไร้ก้าวไกล ย้อนอดีตเคยเจรจาไฟใต้

 ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เกิดขึ้นว่า  การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์อินเทิร์น 1 เนื่องจากเป็นหมอน้องใหม่ที่จบมา และต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานจริงเป็นเวลา 1 ปี โดยจะไปปฏิบัติงานกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)  เพราะน้องๆที่จบมาเมื่อได้ทฤษฎีแล้ว การปฏิบัติจริงต้องมีด้วย ตรงนี้จะเป็นปีแรก ซึ่งแพทยสภา ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโรงพยาบาลที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั่วประเทศ

 วัตถุประสงค์เพื่อให้หมอได้เรียนรู้เพิ่มเติม  สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของจริง และให้มีการปรับตัวเข้ากับการทำงานบริบทของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ เพราะตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย  แต่ตอนออกไปอาจไปอยู่สังกัดอื่นจะได้ปรับตัวทั้งการทำงาน การแพทย์และสังคม

 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า การที่แพทยสภาออกประกาศกรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะดังกล่าว เพราะว่าในอดีตเราพบว่า น้องๆหมอจบใหม่ประสบปัญหาการปรับตัวเมื่อไปทำงานปีแรก  ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือแม้กระทั่งเครียดจนทำร้ายตัวเองก็มี  ซึ่งหากเราแก้ปัญหาที่เริ่มแรกจากน้องๆหมอจบใหม่ ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมาได้

แพทยสภาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 โดยใจความสำคัญระบุกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ คือ

• ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  

• ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน   

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป 

 ปรากฎว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนตั้งคำถามว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้แก่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ไม่มีการกำหนดให้กับแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆด้วยหรืออย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ได้อย่างครอบคลุมจริงๆ 

 ส่วนค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์จะมีอัตราที่แตกต่างกันออกไปโดยพบว่า หมอจบใหม่มีเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท และเงินเดือนจะขึ้นเรื่อยๆ แพทย์เฉพาะทาง เงินเดือนจะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 25,000-30,000 บาท ซึ่งจะอาจจะมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละคน  

 นอกจากนี้ยังมีเงิน เงินP4P (Pay for Performance) ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน จำนวนคนไข้ที่ตรวจ และประเมินเป็นเงินค่าตอบแทน การตรวจผู้ป่วยใน กาผ่าตัดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000-15,000 บาท 

เงินในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าไม่ประกอบเวช เงินค่าเวร แบ่งรายละเอียดเงินที่หมอจะได้เพิ่มเติมจากเงินเดือน ดังนี้ 

• เงินประจำตำแหน่ง

• หมอจบใหม่ 5,000 บาท

• หมอเฉพาะทาง 10,000 บาท 

• หมอสาขาที่ขาดแคลน 15,000 บาท 

• เงินค่าไม่ประกอบเวช หรือไม่เปิดคลินิคและไม่ทำงานเอกชน 10,000 บาท 

• เวรหยุดเสาร์อาทิตย์ เข้าเวร 24 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 2,000 บาท 

• เวร ER เข้าเวร 8 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 1,100 บาท 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นที่แพทย์จบใหม่จำนวนมากแห่ลาออก เหตุงานหนักเกินไป ว่า วันนี้ที่กระทรวงจะมีการแถลงข่าว ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลในภาพรวม เหตุการณ์ที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ ส่วนยอดแพทย์จบใหม่ที่ลาออกจากราชการมีเท่าไหร่นั้น ขอให้เราฟังการแถลง เพราะมีรายละเอียดตัวเลขค่อนข้างเยอะ

เมื่อถามว่านโยบายไม่รับแพทย์จบใหม่เป็นอย่างไร นพ.โอภาส ถามกลับว่า มีนโยบายดังกล่าวด้วยหรือ มีแต่อยากรับเพิ่ม แต่ผู้อนุมัติ ให้รับหรือไม่คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. และรัฐบาล พร้อมย้ำว่าความต้องการของประชาชนในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขมีสูง

โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ราดระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่กระทรวงมี บุคลากรจำกัด ต้องขอบคุณพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาได้อนุมัติบุคลากรตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา จำนวนกว่า 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันด้านบุคลากรลดลง แต่ยังไม่หมดเนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะ

 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านงบประมาณจาก สปสช. ซึ่งให้แบบเหมาจ่ายรายหัว จึงหวังว่าจากนี้จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นให้เท่ากับจำนวนผู้มาใช้บริการ จะสังเกตได้ว่า ทุกอย่างอยู่นอกกันควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาบริการให้กับประชาชน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงต้องขอขอบคุณ แพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่เสียสละทุ่มเทเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด

 ส่วนหลังจากนี้จะเกิดภาวะสมองไหลทางการแพทย์หรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากนี้คงต้องใช้มาตรการในรายภาคส่วน เพราะบุคลากรจะอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากค่าตอบแทน ซึ่งจะต้องมีการเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ทางกระทรวงจึงได้เพิ่ม ค่าตอบแทนในส่วนของค่าทำงานล่วงเวลา และสร้างบ้านพัก สวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ รวมถึงเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพ มีการปรับเลื่อนระดับแพทย์ เป็น ซี 9 เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพยาบาลมีการพิจารณาปรับเลื่อนระดับเป็น ซี8-ซี9 ตามระเบียบของก.พ.

 ส่วนปัญหาเรื่องเนื้องาน น่าจะเป็นส่วนที่แก้ยากที่สุด เนื่องจากมีความต้องการค่อนข้างมาก แต่หากได้งบประมาณเพิ่มขึ้นทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามลำดับ เบื้องต้นได้กำชับ เรื่องการดูแลสวัสดิการ และภาระงานไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขพบว่าภาระงานเริ่มลดลง มีเพียงบางจุดที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะในส่วนของ โรงพยาบาลศูนย์ทั่วไปในตัวเมือง จะมีภาระงานมากกว่าโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่ก็ต้องแก้เป็นจุดๆไป  โดยยึดนโยบายว่า ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรใช้ร่วมกันได้ แต่โดยภาพรวมถือว่าดีขึ้น 

 เมื่อถามว่าเบื้องต้นจะแก้ไขปัญหาแค่จดหมายลาออกได้อย่างไร นพ.โอภาส ระบุว่า ในภาพรวมบุคลากรที่รับเข้าระบบ แต่ละปีประมาณ  2,000 คน ที่ลาออกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อเรียนจบแล้ว บางคนอยากจะไปเรียนต่อ ประมาณ 10% ต่อปี แต่ยังมีบุคลากรที่กลับเข้ามาในระบบสัดส่วนที่สูงกว่า ยืนยันว่าหากบุคลากรยังทำงาน ต่อ การกระทรวงบรรจุเข้าสู่ระบบราชการเกือบทุกคน แต่บางครั้ง แค่ที่ไม่ได้เข้าระบบใช้ทุน เช่นแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะไม่อยู่ต่อ

 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย แพทย์หญิงพิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ได้ร่วมกันแถลงข่าว ถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

 นายแพทย์ ทวีศิลป์ ระบุว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่ขาดแคลน ยังรวมไปถึง พยาบาล และส่วนอื่นๆ ด้วย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561

โดยข้อมูล จำนวนแพทย์ ภาพรวม ทั้งหมดในประเทศไทยทุกสังกัดอยู่ที่ประมาณ 50,000 คน - 60,000 คน โดยแพทย์ในจำนวนนี้ มีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน เฉลี่ยร้อยละ 48  ซึ่งสัดส่วนแพทย์ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ต่อประชากร แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 2,000 คน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัดส่วนแพทย์ในการดูแลประชากร อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 คน 

ส่วนการผลิตแพทย์ตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2570 โดยตั้งแต่ปี 2561 ผลิตแพทย์เฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 คน แต่ในบางปีก็ไม่ถึงจบไม่ถึง 3,000 คน 

ซึ่งหากจะให้ถึงเป้าที่ต้องไว้ใน ปี 2570  มีแพทย์ประมาณ 30,000 กว่าคน โดยกระทรวงสาธารณสุข จึงมีส่วนรับผิดชอบในการผลิตแพทย์ อยู่ที่ประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้จะต้องแบ่งกับกระทรวงกลาโหมด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้มีการหารือร่วมกับคณะแพทย์ต่างๆ โดยได้มีการปรับสูตรการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์  

โดยปี 2566 มีแพทย์จบใหม่ 2759 คน ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมมีแพทย์ที่จบใหม่อยู่ประมาณ 1900 คนซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการที่ต้องอยู่ที่ประมาณ 2,500 คนต่อปี

 สำหรับเวลาในการทำงาน มาตรฐานโลกชั่วโมงการทำงาน จะ อยู่ที่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมง / แต่ ข้อมูลในประเทศไทย มีโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมง จำนวน 65 แห่ง 

 ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 มีแพทย์ที่ทำงานเกินเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อยู่ 9 แห่ง ให้มีการแผนจัดการเร่งด่วน 3 เดือน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ปัจจัย เช่น มีบุคลากรทางการแพทย์น้อย 

ทำงานกว่า 59 ชั่วโมง-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 4 แห่ง ให้มีแผนเร่งด่วน 6 เดือน

ทำงานกว่า 52 ชั่วโมง-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อยู่ 11 แห่ง ให้มีแผน ภายใน9 เดือน

ทำงานกว่า 46 ชั่วโมงถึง 52 ชั่วโมง 18 แห่ง

ทำงานกว่า 40 ชั่วโมงถึง 46 ชั่วโมง 23 แห่ง ให้มีแผนภายใน 1 ปี 

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขรับทราบมาตลอดและได้มีการพยายามแก้ไขและจัดสรรแพทย์ 

ข้อมูลการลาออกของแพทย์ปี 2556 -2561  

10 ปีย้อนหลัง มีแพทย์บรรจุ อยู่ที่ 19,035 คน 

• แบ่งเป็น แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก อยู่ที่ 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน

• แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 187 คนคิดเป็นร้อยละ 9.69 เฉลี่ยปีละ 188 คน

• แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คนร้อยละ 4.4 เฉลี่ยปีละ 86 คน

• แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน 1,578 คน ร้อยละ 8.1 เฉลี่ยปีละ 158 คน

 ทำให้ภาพรวมเฉลี่ยการลาออกของแพทย์ปีละ 455 คนรวมถึงเกษียณอายุราชการปีละ 150-200 คนรวมประมาณปีละ 655 คน

ปัจจัยการลาออก เช่น แพทย์รายนั้นทำงานครบระยะการใช้ทุนจึงลาออกไปทำที่อื่น หรือด้วยเหตุผลส่วนตัว

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการผลิตแพทย์ โดยเป็นการปรับกรอบอัตรากำลังในปี 2565-2570 ตั้งเป้า ผลิตแพทย์ให้ได้ 35,000 คน ในปี 2570 ซึ่งจะเพิ่มจากเดิมมาประมาณ 10,000 คน

ตามระบบแพทย์ จะเรียนจบ 6 ปี แต่ทางแพทยสภาได้มีการกำหนดให้แพทย์ได้เพิ่มพูนทักษะเฉพาะอีก 1 ปี โดยมีโรงพยาบาลทั้งหมด 117 แห่ง รวมเรียน 7 ปี จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลแพทย์กลุ่มนี้ เมื่อเรียนครบ 1 ปีแพทย์ก็สามารถที่จะไปเรียนต่อเฉพาะทางโดยใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข อีก 3 ปี รวมเป็นทั้งหมด 10 ปี  

นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังระบุถึงปัญหาการลาออกของแพทย์ ซึ่งได้ระบุถึงข้อมูลจากการสำรวจและสอบถามแพทย์ ในระบบ พบว่า ที่ลาออกส่วนใหญ่ คือ ภาระหนัก ส่วนค่าตอบแทนได้เคยสำรวจไว้แล้วโดยพบว่าอยู่ในอันดับท้ายๆ

ทั้งนี้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 116 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์กรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิตจำนวน 49 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวน 743 แห่ง.

 สำหรับแพทย์ที่จะไปปฏิบัติชดใช้ทุนส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มี 2 กลุ่ม คือ  

• กลุ่มแพทย์โครงการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมผลิต รวมถึงแพทย์พี่เลี้ยงและแพทย์หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งกระจายโควตาไว้ในแต่ละเขตสุขภาพแล้ว

• กลุ่มแพทย์ใช้ทุนโครงการทั่วไป ที่ผลิตโดยสถาบันแพทยศาสตร์  ซึ่งจะมีการจับสลากเลือกพื้นที่ เพื่อเติมโควตาที่ยังว่างในแต่ละเขตสุขภาพ

โดยการคิดโควตาแพทย์ใช้ทุนจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองตามลำดับชั้น และใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน ทั้งข้อมูลแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนที่ยังขาดแคลน ข้อมูลการจัดสรรแพทย์ย้อนหลัง 5 ปี จำนวนแพทย์ที่คงอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปีนั้น และนำมาเกลี่ยการจัดสรรให้เหมาะสม 

ในปี 2566 ได้รับจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปี 1 จำนวน 2,014 คน ขณะที่โรงพยาบาล 116 แห่ง สามารถฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะได้ 3,157 คน เขตสุขภาพที่มีศักยภาพการฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะค่อนข้างสูง จึงมีการจัดสรรแพทย์นอกสังกัดฝากฝึก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง นอกจากนั้น โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่งที่มีภาระงานมาก เขตสุขภาพยังมีวิธีการบริหารจัดการ เช่น จัดให้แพทย์ใช้ทุนปี 2 และ 3 มาช่วยปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยจัดให้ระยะเวลาการปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชนน้อยลง ทำให้มีจำนวนแพทย์ปฏิบัติงานในสถาบันเพิ่มพูนทักษะเพิ่มขึ้น

ที่มา : แพทยสภา 

related