svasdssvasds

เตือน! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็น กสทช. หลอกผู้เสียหายเปิดเบอร์ไปลวงผู้อื่น

เตือน! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็น กสทช. หลอกผู้เสียหายเปิดเบอร์ไปลวงผู้อื่น

ระบาดหนัก! ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยแก๊ง Call Center แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ กสทช. และพนักงานผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ แจ้งว่าผู้เสียหายได้เปิดใช้งานซิมโทรศัพท์นำไปหลอกลวงผู้อื่น

ในปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าเป็นจากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จากการส่งข้อความสั้น (SMS) และจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน

โดยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) จะมีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ หลอกลวงข่มขู่เหยื่อให้เกิดความกลัว หรือหลอกลวงให้เกิดความโลภ ใช้ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ

มิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบในการหลอกลวง 

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตรวจสอบพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น

  • การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่จัดส่งไปยังต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมาย หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกอายัด หรือเป็นหนี้ยังไม่ชำระบัตรเครดิต
  • เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เป็นบุคคลตามหมายจับ
  • หลอกลวงว่าได้รับเงินคืนภาษี ได้รับรางวัลต่างๆ
  • หลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย

นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานปลอม ที่สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย เป็นต้น

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนของนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ

รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

สตช.วางมาตรการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมกันแสวงหาแนวทาง และวางมาตรการป้องกันในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเตือนภัยไซเบอร์วัคซีน การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน การบังคับกฎหมายตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 การแก้ไขการรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร การครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือ การอายัดบัญชีธนาคารอย่างรวดเร็วให้ทันท่วงที การตรวจจับบัญชี หรือการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และการยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินสูง เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วยังมีปฏิบัติการในหลายมิติที่สำคัญๆ หลายครั้ง อาทิ

  • การปฏิบัติการตัดวงจรซิม-สาย-เสา
  • การจับกุมข้าราชการนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์
  • การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเหยื่อ ความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท
  • ยุทธการโค่นเสาสัญญาณ หรือสถานีเถื่อนชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related