svasdssvasds

อีอีซี ดันตะวันออกสู่เมืองการบินปี’67 ต่างชาติตบเท้าขนเงินลงทุน 1 แสนล้าน

อีอีซี ดันตะวันออกสู่เมืองการบินปี’67 ต่างชาติตบเท้าขนเงินลงทุน 1 แสนล้าน

พาส่องความเคลื่อนไหวของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีการ ผลักดันพื้นที่ EEC ให้ภาคตะวันออกสู่เมืองการบินปี’67 - อุตสาหกรรมสีเขียวอัปเดตต่างชาติตบเท้าขนเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐหมายมั่นปั้นมือจะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ดึงเม็ดเงินจากต่างชาติมหาศาลเข้าไทย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม ทั้งการขนส่ง คมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ที่เอื้ออำนวยจึงทำให้ภาคตะวันออกเนื้อหอมมากๆ มีนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติต่างพาเหรดลงทุน

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3

 

โดย “ดร.จุฬา สุขมานพ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า จะเร่งรัดการลงทุนได้ติดตามความคืบหน้าแผนงานต่างๆ โดยเฉพาะโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ที่ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค.2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (transit oriented development, TOD) แล้ว

เดินหน้าดันอุตสาหกรรมสีเขียวภาคตะวันออก

ส่วนการดำเนินงานของโครงการไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน จะทำงานคู่ขนานระหว่างการยื่นขอตีความจากอัยการสูงสุดในประเด็นส่งมอบพื้นที่ออก NTP โดยไม่ต้องรอเอกชนรับบัตรส่งเสริม BOI และดำเนินงานส่วนของการขอพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมทุนใหม่ ซึ่งงานก่อสร้างไม่จำเป็นต้องรอให้การแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ เพราะรายละเอียดของการแก้ไขสัญญา มีประเด็นสำคัญในการพิจารณาเรื่องถ้อยคำเหตุสุดวิสัย และการทำแนวท้ายสัญญาเรื่องแบ่งจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์

ด้านความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้กองทัพเรือเตรียมประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค.นี้ โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ สกพอ. ร.ฟ.ท. และเอกชนคู่สัญญารถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกันในส่วนของโครงสร้างร่วมบริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค.นี้ และโครงการสนามบินอู่ตะเภา จะเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค.2567

ดร.จุฬา กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี คือโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเชื่อมประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยโรงงานที่บ้านโพธิ์แห่งนี้ ได้สร้างการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ซึ่งสอดคล้องกับผลักดันคลัสเตอร์การลงทุนด้าน B-C-G ของอีอีซี เช่น ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดการใช้พลังงาน ออกแบบระบบจ่ายพลังงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 8,500 ตันต่อปี อีกทั้งได้ต่อยอดลงทุนเพื่อยกระดับชุมชน อาทิ การสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค มีพื้นที่ปลูกป่าในโรงงานกว่า 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตบ้านโพธิ์ ถือเป็นพื้นที่เขตส่งเสริม ฯ ที่สำคัญ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นรากฐานของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์อีวีในประเทศไทย สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ใน Supply Chain ของรถยนต์อีวี และผลิตชิ้นส่วนที่ได้ตามมาตรฐานโลก ผลักดันให้อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางลงทุนยานยนต์อีวีแห่งภูมิภาค พร้อมส่งเสริมเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีชุมชน หรือ “Unseen Bangkhla” ริมแม่น้ำบางปะกง กระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาบุคลากรทักษะสูงที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาที่พัฒนาหลักสูตร อีอีซี โมเดล Type A ที่ได้ผลิตบุคลากรร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ร่วมมือกับ BMW Ford และ E@ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ Senior Aero Space บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากอเมริกา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตบุคลากร ร่วมกับกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมกับ Mitsubishi Electric กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์จับคู่กับบริษัท TKK และ TBKK เป็นต้น

เร่งป้อนบุคคลากรสู่อุตสาหกรรมการบิน

โดยการดำเนินงานที่สำคัญ พบว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว รวมประมาณ 470 คน ได้งานที่ตรงความต้องการและมีรายได้ทันทีหลังการเรียนจบรวมไปถึงการเยี่ยมชม ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านเมคคาทรอนิกส์ หรือ ENMEC (EEC Networking of Mechatronics Excellence Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตะวันออก (วิทยาเขตบางพระ) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทักษะบุคลากร

ซึ่งศูนย์ ฯ ENMEC แห่งนี้ ได้เน้นหลักสูตรการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และระบบการผลิตอัจฉริยะ เพื่อให้นักศึกษา หรือผู้ที่เข้ารับฝึกอบรมระยะสั้นตาม อีอีซี โมเดล Type B สามารถมีทักษะรองรับการผลิตในโรงงานที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง และเป็นเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

​สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี พบว่า ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ทำงานร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ อีอีซี โมเดล

อีอีซี ดันตะวันออกสู่เมืองการบินปี’67 ต่างชาติตบเท้าขนเงินลงทุน 1 แสนล้าน

ซึ่งพบว่า เกิดการผลิตบุคลากรแล้วกว่า 54,573 คน โดยในปี 2567 จะสามารถผลิตบุคลากรได้เพิ่มขึ้น 76,573 คน จากเป้าหมายความต้องการบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ประมาณ 475,668 คน

นอกจากนี้ ดร.จุฬา กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในไตรมาสแรกของปี 2567 จากนั้นก็จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาร่วมลงทุน (PPPs) ในพื้นที่ที่อีอีซีกันไว้ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 200 ไร่ โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการอื่น

ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นในเรื่องการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐเป็นสำคัญ แต่สำหรับโครงการนี้จะเน้นไปที่อัตราค่าบริการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการรายใดเสนออัตราค่าบริการต่ำที่สุด เป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนในโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถแข่งขันกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้ได้

ด้าน ดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยสัตหีบ เปิดเผยว่า โครงการ Excellent Model School (EMS) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา , วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันออกแบบหลักสูตรผลิตช่างซ่อม และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อรองรับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

นับว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ที่หลายหน่วยงานเร่งผลักดัน EEC สู่เมืองการบินปี’67 เพราะ…วันนี้อีอีซีพร้อมแล้วที่จะออกไปเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่าปี2567 จะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่กว่า 100,000 ล้านบาท/ปี ตบเท้าเข้ามาลงทุน !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related