svasdssvasds

วิวาทะ ‘ภูมิธรรม VS ก้าวไกล’ ปมร่วม/ไม่ร่วม คกก.ศึกษาทำประชามติ

วิวาทะ ‘ภูมิธรรม VS ก้าวไกล’ ปมร่วม/ไม่ร่วม คกก.ศึกษาทำประชามติ

หลัง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แถลงผลการประชุม ครม. วันที่ 3 ต.ค. 66 โดยเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ทั้ง 35 คน และมีโควตาตัวแทนของพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในนั้นหนึ่งตำแหน่ง

'ภูมิธรรม' ปราม 'ก้าวไกล' ไม่ใช่ตัวแทนคนทั้งประเทศ

ภูมิธรรมตอบคำถามผู้สื่อข่าว ตัวเองยังรอพรรคก้าวไกลมาร่วมในคณะกรรมการ แต่หากยังไม่พร้อมหรือไม่สะดวกใจ ก็จะมีเวทีในการรับฟังความคิดเห็นได้ เพื่อรวบรวมความเห็นต่างมาให้คณะกรรมการรับทราบ ส่วนเรื่อง สสร. จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเลยไหม? เลือกตั้งแบบไหน? หรือบางสัดส่วนจะมาแต่งตั้ง? เป็นเรื่องที่จะต้องมาพูดคุยกัน ส่วนเรื่องการทำประชามติว่าจะทำทั้งหมดกี่ครั้ง ต้องพิจารณาถึงงบประมาณด้วย เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนตัวอยากให้ใช้งบประมาณรวมแล้วไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3 ครั้งจะดีที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณและเวลา และเพื่อไม่ให้เสียเปล่า คณะกรรมการฯ ต้องหาทางให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านให้ได้ โดยการไม่ไปแตะหมวด 1 และ 2 ที่จะกระตุ้นความขัดแย้ง

โดยภูมิธรรม ยืนยันว่า ถ้าพรรคก้าวไกลมีความเห็นต่อกระบวนการทำประชามติและเลือกตั้ง สสร. ก็ควรเข้ามาเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพราะความเห็นของพรรคก้าวไกล พรรคอื่นๆ หรือแม้พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ทั้งหมดของตัวแทนประชาชน ต้องนำมาหารือและพิจารณาร่วมกันว่าแนวทางที่เสนอนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
 

'ก้าวไกล' สวน ไม่ใช่แค่ รธน.ใหม่ แต่ต้องชอบธรรม ตั้งแต่ต้นทาง

พรรคก้าวไกลก็มีมติในที่ประชุม สส. สวนออกมาทันทีว่า ยังไม่ร่วมคณะกรรมการดังกล่าว โดยให้เหตุผลหลัก 2 ข้อคือ พรรคยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน:

  • (1) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ
  • (2) การจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

พร้อมทั้งยืนยันว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และกระบวนการดังกล่าวควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่ รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรรค ต่อคณะกรรมการหากคณะกรรมการมีความประสงค์ และย้ำว่าเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย 

พรรคก้าวไกล ยังเปิดช่องว่า หากในอนาคต ทางรัฐบาลยืนยัน หรือทางคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะเดินหน้าภายใต้ 2 จุดยืนดังกล่าว พรรคก้าวไกลจะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ เพื่อทำงานร่วมกันในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำประชามติ (เช่น จำนวนครั้ง กรอบเวลา คำถาม) และแนวทางด้านอื่นๆ (เช่น จำนวน สสร. กรอบเวลาทำงานของ สสร.)

“เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยพรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลและคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด” แถลงการณ์พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 จะเป็นการประชุมของคณะกรรมการฯ นัดแรก และคาดว่าจะหารือกันถึงกรอบการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มเดินหน้าทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2567 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ก่อนรัฐบาลครบเทอมในปี 2570

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related