svasdssvasds

"หมีแพนด้า" นักการทูตที่ทำให้จีนดูเป็นมิตรในสายตาชาวโลก

"หมีแพนด้า" นักการทูตที่ทำให้จีนดูเป็นมิตรในสายตาชาวโลก

"หมีแพนด้า" ไม่ได้มีแต่ความน่ารัก แต่คือ "นักการทูตสันถวไมตรี" และพลังซอฟต์พาวเวอร์ที่จีนใช้ซื้อใจชาวโลกมาหลายทศวรรษ

แม้จีนจะเป็นที่รู้จักในนาม “โรงงานโลก” ที่เน้นส่งออกสินค้าเหล็ก ทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ เทคโนโลยี หุ่นยนต์ และอื่นๆ ทว่าอีกหนึ่งชื่อเสียงของจีนที่เป็นเอกลักษณ์มาหลายทศวรรษก็คือ “การทูตแพนด้า” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดภาพลักษณ์ของจีนในระดับโลก

ณ เวลานี้ สำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน (National Forestry and Grassland Administration) รายงานว่า มี “แพนด้ายักษ์ (Giant Panda)” มากกว่า 50 ตัวอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โดยพวกมันถูกเช่ายืมไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ “ความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์” รวมถึงเป็นตัวแทนของมิตรภาพและความปรารถนาดี ที่จีนมีต่อประเทศผู้เช่ารับแพนด้าเหล่านั้น

หลินฮุ่ย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ PHOTO : Own Work Wikimedia

ประวัติความเป็นมา การทูตแพนด้า

การส่ง “แพนด้า” ไปเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ในต่างแดน มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) และมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งในปัจจุบันมีแพนด้าอยู่ในป่าของประเทศจีนประมาณเกือบ 1900 ตัว และอยู่ในศูนย์เพาะพันธุ์อีกประมาณ 600 ตัว

หากประเทศไหนไม่ได้รับแพนด้า จากนโนบาย “ทูตสันถวไมตรี” ของจีนตั้งแต่ต้น ประเทศนั้นจะต้องเสียค่าเช่าแพนด้าประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์แพนด้า ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นจำนวนเงินที่จีนเอากลับไปเป็นค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์แพนด้าในประเทศตัวเองได้อีกหลายต่อ

ในปัจจุบันจีนได้มอบแพนด้าเป็นของขวัญทางการทูตแก่ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ฯลฯ แต่เนื่องจากจำนวนแพนด้าเริ่มลดลง ทำให้ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จีนจึงเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติได้จากการให้เป็นของขวัญไปเป็นการเช่ายืมแพนด้าแทน ซึ่งส่วนใหญ่ให้เช่ายืมได้ 10 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ แต่มักจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขชุดหนึ่งร่วมด้วย โดยข้อกำหนดเหล่านี้อาจรวมถึงค่าธรรมเนียมในการกู้ยืม ข้อกำหนดในการดูแลแพนด้า ไปจนถึงข้อตกลงในการส่งลูกหลานของแพนด้าเหล่านั้นกลับไปยังประเทศจีน

ประวัติความเป็นมา การทูตแพนด้า PHOTO : George Lu flickr

ทั้งนี้ การทูตแพนด้ายังสามารถใช้เป็นแนวทางให้จีนส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเองในต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศที่ได้รับแพนด้า และในหลายกรณี การมีแพนด้าในสวนสัตว์ไม่ว่าจะกี่ตัว ล้วนทำให้เกิดความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก รวมถึงอาจกระตุ้นการท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศกันอีกด้วย

ประเทศที่มีแพนด้าไว้ในครอบครอง : PHOTO giantpandaglobal.com

ประเทศที่มีแพนด้าไว้ในครอบครอง

เวลานี้มี หมีแพนด้ายักษ์ อาศัยอยู่ในสวนสัตว์กว่า 20 แห่งทั่วโลก ดังนี้

  • ญี่ปุ่น 9 ตัว
  • เบลเยียม 5 ตัว
  • สเปน 5 ตัว
  • สหรัฐ 4 ตัว
  • ฝรั่งเศส 4 ตัว
  • เยอรมนี 4 ตัว
  • มาเลเซีย 4 ตัว
  • สิงคโปร์ 3 ตัว
  • รัสเซีย 2 ตัว
  • อังกฤษ 2 ตัว
  • เนเธอร์แลนด์ 2 ตัว
  • ออสเตรเลีย 2 ตัว
  • ออสเตรีย 2 ตัว
  • เดนมาร์ก 2 ตัว
  • ฟินแลนด์ 2 ตัว
  • กาตาร์ 2 ตัว
  • อินโดนีเซีย 2 ตัว
  • เม็กซิโก 1 ตัว ไทยเคยมีแพนด้ากี่ตัว ?

ไทยเคยมีแพนด้ากี่ตัว ?

เชื่อว่าชาวไทยน่าจะรู้จักแพนด้า 3 ตัวได้แก่ ช่วงช่วง หลินฮุ่ย และหลินปิง แต่ความจริงแล้วก่อนหน้านั้น “สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์” เคยนำแพนด้า 2 ตัว จากจีนมาจัดแสดงก่อนแล้ว โดยเป็นแพนด้าเพศผู้และเพศเมียชื่อ “ดองดอง” และ “ย่าชิง” ตามลำดับ เพียงแต่ครั้งนั้นเป็นการจัดแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ร่วมมือกับทางการจีนเพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์แพนด้าแต่อย่างใด และอยู่ไทยแค่ ช่วงปลายปี 2535 ถึงต้นปี 2536 (180 วัน) เท่านั้น

ส่วนแพนด้าที่เข้ามาทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีไทยอย่างเป็นทางการคือ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” แพนด้าเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะในปี 2546 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอแพนด้าจาก เจียง เจ๋อ หมิน (ประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น) เพื่อนำมาเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับไทย

สำหรับ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” นั้น เกิดที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู เดินทางมาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ใน วันที่ 12 ตุลาคม 2546 และถือเป็นการจุดประกายกระแส “แพนด้าในเมืองไทย” จนถึงขั้นมีการถ่ายทอดสดชีวิตแพนด้าให้ผู้ชมที่บ้านดูตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

การมีอยู่ของแพนด้าทั้ง 2 ตัว สร้างเม็ดเงินท่องเที่ยวให้จังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่น้อย และเมื่อเวลาผ่านไป ทีมวิจัยของไทยก็ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมจนให้กำเนิด "หลินปิง" แผนด้าเพศเมีย ลูกของหลินฮุ่ย ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 จึงนับเป็นแพนด้าตัวที่ 3 ของไทย และเป็นลูกแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศใกล้เขตศูนย์สูตร

ทว่า หลินปิง ก็อยู่โชว์ความน่ารักที่ไทยได้เพียง 4 ปีเท่านั้น เพราะข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่าไทยต้องส่งลูกหลานของแพนด้ากลับไปยังจีน จึงทำให้หลินปิงต้องเดินทางกลับจีนในวันที่ 28 กันยายน 2556 ท่ามกลางน้ำตาของแฟนๆ ชาวไทย

หลังจากนั้นกระแสของแพนด้าก็จางลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง วันที่ 15 กันยายน 2562 ช่วงช่วงก็ลาโลกไปในวัย 19 ปี

ส่วนหลินฮุ่ย ก็จากโลกตามไป ในวันที่ 18 เมษายน 2566 ขณะมีอายุ 21 ซึ่งเป็นการปิดตำนานแพนด้าเมืองไทยลงอย่างสมบูรณ์

ไทยอาจได้ครอบครองแพนด้าอีกครั้ง!

ไทยอาจมีแพนด้าอีกครั้ง!

ไม่นานมานี้มีข่าวดีสำหรับคนรักแพนด้าอีกครั้ง เพราะวันที่ 30 มกราคม 2567 นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ได้เผยถึงแนวคิดนำหมีแพนด้ามาดูแลในประเทศไทย เพราะไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 50 ปี จึงได้ใช้โอกาสพบกับ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ รมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจาก นายหวัง อี้ อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สังคมก็ตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยตลอดว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้นั้นคุ้มค่าหรือเปล่า” เพราะแพนด้าหนึ่งตัวต้องใช้เงินมหาศาลในการเลี้ยงดู และการตายของ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ครั้งนั้น ก็ทำให้ไทยต้องจ่ายค่าประกันกว่า 30 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับจีน

ขณะเดียวกัน สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย อย่าง “ช้าง” ก็ยังต้องการงบประมาณในการดูแลอีกจำนวนมากเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะทำสัญญาเช่ายืมแพนด้าตัวใหม่จากจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

related