svasdssvasds

เทียบการดูแล สัตว์ทูตสันถวไมตรี ไทย-จีน มีเกณฑ์ดูแลสัตว์ในต่างแดนอย่างไร?

เทียบการดูแล สัตว์ทูตสันถวไมตรี ไทย-จีน มีเกณฑ์ดูแลสัตว์ในต่างแดนอย่างไร?

พลายศักดิ์สุรินทร์ สัตว์นักการทูตที่ถูกใช้งานจนเกือบพิการ กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องของการดูแลช้างเป็นอย่างไร แล้วทำไมแพนด้าของจีนถึงได้รับการดูแลดีกว่า

การส่งออกสัตว์เพื่อเป็นตัวแทนทางการทูต ยังคงเป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยาหรืออาจมีก่อนหน้านั้น ที่รู้จักกันว่า “เครื่องราชบรรณาการ” ควบคู่ไปกับสิ่งของ เงินทองหรือพืชผลที่เป็นของดีของภูมิภาคนั้น ๆ

พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของสัตว์ประจำชาติไทยที่ถูกส่งไปเป็นตัวแทนการผูกไมตรีระหว่างไทยกับศรีลังกา แต่ก็เกิดดราม่าถูกดูแลไม่เหมาะสม จึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้นให้นำกลับไปรักษาที่ไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิด

พลายศักดิ์สุรินทร์ เรื่องนี้ทำให้หลายคนสงสัย ทำไม สัตว์ที่เราอุตส่าห์ส่งไปเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะนักการทูตถึงได้รับการดูแลแบบนี้ ซึ่งหากเทียบกับการส่งแพนด้าไปต่างประเทศของจีน ที่ดูเหมือนมีการดูแลหรือกฎเกณฑ์ที่ดีกว่า ทำไมช้างไทยจึงไม่ได้รับแบบนั้นบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Springnews จะเทียบให้เห็นชัด ๆ ถึงมาตรการการดูแลสัตว์นักการทูตระหว่างแพนด้าของจีนและช้างของไทย ว่ามีการดูแลอย่างไรในต่างแดน

เทียบการดูแล สัตว์ทูตสันถวไมตรี ไทย-จีน มีเกณฑ์ดูแลสัตว์ในต่างแดนอย่างไร? จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศจีนจะมีกฎระเบียบที่รัดกุมกว่า จะเห็นได้จากตัวอย่างของแพนด้าหยาหยาที่เพิ่งถูกส่งกลับจีน เมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา จากกรณีดราม่านักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวที่สวนสัตว์เมมฟิซ ของสหรัฐอเมริกาแล้วพบว่าหยาหยามีสภาพร่างกายย่ำแย่ จึงเรียกร้องให้ส่งกลับจีนพร้อมถูกปรับด้วย อ่านเรื่องของหยาหยาต่อได้ที่ >>> แพนด้า "หยาหยา" กลับถึงจีนแล้ว หลังดราม่า ถูกเลี้ยงดูไม่ดีในสวนสัตว์สหรัฐฯ

ส่วนของประเทศไทย อ้างอิงจากระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งออกช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 โดยระบุว่า การส่งออกสัตว์ออกนอกประเทศมีอยู 3 กรณีหลัก คือ 1) ส่งออกไปเพื่อวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย 2) เชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 3) ส่งส่วนต่าง ๆ ของช้างหรือผลิตภัณฑ์ทำจากช้างออกนอกประเทศ

ที่มา : ระเบียบกระทรวงพาณิชย์

ซึ่งในส่วนของ การส่งช้างออกนอกราชอาณาจักรเพื่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศนั้นมีข้อกำหนดเพียงแค่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ช้างอยู่นอกราชอาณาจักรต้องมีควาญช้างหรือผู้บังคับช้างอย่างน้อย 2 คนต่อช้าง 1 เชือก โดยปีแรกควาญช้างหรือผู้บังคับช้างจะต้องเป็นสัญชาติไทย และต้องมีการทำเอกสารยื่นขออนุญาตพร้อมหลักฐาน

และจากการโทรสอบถามสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชถึงมาตรการการดูแลช้างไทยในต่างแดน ทางกรมฯได้อธิบายว่า สัตว์ที่ส่งออกไปแล้ว คือ ส่งออกไปเลย ไม่มีกำหนดการส่งคืน หากไม่ใช่เพื่อการศึกษาวิจัย การดูแลช้างก็เลยต้องขึ้นกับประเทศปลายทางว่าประเทศนั้นมีมาตรการการดูแลช้างอย่างไร เป็นต้น

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่อนุญาตให้ส่งออกช้างออกนอกราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว เพื่อป้องกันการนำช้างป่ามาสวมเป็นช้างบ้านเพื่อส่งออกต่างประเทศ แต่จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเผยว่า ปี 2544-2559 ไทยยังมีการส่งออกช้างไปเป็นทูตสันถวไมตรีกันอยู่

  • ในช่วงปีโดยก่อนปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 1 เชือกไปศรีลังกา นั่นคือ พลายประตูผา
  • ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศศรีลังกา (พลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์)
  • ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 3 เชือกไปประเทศเดนมาร์ก
  • ปี 2545 กรมป่าไม้ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปยังประเทศญี่ปุ่น
  • ปี 2547 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งช้าง 2 เชือกไปประเทศสวีเดน
  • ปี 2548 จังหวัดสุรินทร์ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศญี่ปุ่น (พลายอาทิตย์ และ พังอุทัย)
  • ปี 2559 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งออกช้าง 8 เชือกไปประเทศออสเตรเลีย

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า ในปัจจุบันไทยไม่มีนโยบายส่งออกช้างแล้ว แต่หากประเทศไหนต้องการแลกเปลี่ยน ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปยาว ๆ เลย รวมถึง พลายศักดิ์สุรินทร์จะต้องถูกส่งกลับศรีลังกาหรือไม่หากหายดี 100%

ที่มาข้อมูล

กรมการค้าต่างประเทศ

South China Morning Post

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

related