svasdssvasds

เปิดไทม์ไลน์ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน คาดได้ยลโฉมกลางเดือน ก.ค.

เปิดไทม์ไลน์ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน คาดได้ยลโฉมกลางเดือน ก.ค.

เปิดไทม์ไลน์ "เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่" กกต.ประกาศรายละเอียด 20 กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. 200 คน

SHORT CUT

  • สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำลังจะหมดเวลาลงในวันที่ 11 พฤษภาคม
  • กระบวนการสรรหา สว. ตั้งแต่เริ่มประกาศพระราชกฤษฎีกาจะใช้เวลาอย่างมากที่สุดประมาณ 64 วัน
  • ช่วงประมาณกลางเดือน ก.ค. 2567 กกต. ประกาศผลการสรรหา สว. ในพระราชกิจจานุเบกษา ได้เห็นหน้า สว. ชุดใหม่

เปิดไทม์ไลน์ "เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่" กกต.ประกาศรายละเอียด 20 กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. 200 คน

จากกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน กำลังจะครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ในเดือน พ.ค. 2567 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่ง สว. ชุดใหม่ 200 คน ซึ่งการรับสมัครกำหนดให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. มีผลใช้บังคับ กำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน

มีรายงานข่าวจาก กกต. ระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนแสดงเจตจำนงกับ กกต. จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อขอเข้ารับการสมัครดำรงตำแหน่ง สว. กว่า 210,000 ราย โดย กกต. ได้จัดทำลิสต์เอาไว้แล้ว พร้อมมอบหมายให้ กกต. จังหวัด จัดให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือก สว. ตามกลุ่มอาชีพ เพื่อประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ตามกฎหมายให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำลังจะหมดเวลาลงในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยเปิดรูปแบบบัตรเลือกตั้ง สว.ทั้ง 3 ระดับ คือ "อำเภอ จังหวัด ประเทศ" ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลเมื่อวันที่ 16 ก.พ.67 ที่ผ่านมาแล้ว โดยสาระสำคัญของระเบียบการเลือก สว. ชุดใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้  

ทั้งนี้ ก่อนวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อเตรียมการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการระดับอำเภอและคณะกรรมการระดับจังหวัด ในการเปิดการรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

โดยให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วันแต่ไม่เกิน 7 วัน

ระยะเวลาในการคัดเลือก สว. ตามกฎหมาย

หลังจากที่ สว. ชุดแต่งตั้งครบวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะการณ์ของรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 การเลือก สว. ชุดใหม่ก็จะดำเนินการตามวิธี “ปกติ” ในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 วรรคท้าย ระบุว่า การเลือก สว. ชุดใหม่จะเริ่มด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะต้องประกาศวันที่จะเริ่มกระบวนการสรรหา สว. ภายในห้าวัน

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 12 กำหนดว่าภายในห้าวันหลังมีพระราชกฤษฎีกา กกต. จะต้องประกาศข้อมูลดังนี้

วันรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการสรรหาเป็น สว. ต้องไม่เกิน 15 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกา และระยะเวลารับสมัคร 5-7 วัน

วันเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ 

บัตรเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ

  • วันเลือกตั้ง สว.ระดับอำเภอ

ไม่เกิน 20 วันหลังจากสิ้นสุดการรับสมัคร

บัตรเลือกตั้ง สว. ระดับจังหวัด

  • วันเลือกตั้ง สว.ระดับจังหวัด

ไม่เกินเจ็ดวันหลังจากวันเลือกระดับอำเภอ

บัตรเลือกตั้ง สว. ระดับประเทศ

  • วันเลือกตั้ง สว.​​​​​​​ระดับประเทศ

ไม่เกิน 10 วันหลังจากการเลือกระดับจังหวัด

หลังจากที่การเลือกในระดับประเทศได้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกลำดับสุดท้ายจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน กกต. จะต้องรอไว้ก่อนอย่างน้อยห้าวัน หาก กกต. เห็นว่ากระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม ก็ให้ประกาศผลการสรรหา สว. ชุดใหม่ 200 คนในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันจบกระบวนการ

ใช้เวลากว่า 60 วัน จะได้เห็นหน้า สว. ชุดใหม่

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้สามารถประมาณการระยะเวลาของขั้นตอนการสรรหา สว. ได้ดังนี้

  • 11 พ.ค. 2567 สว. แต่งตั้งโดย คสช. หมดอายุ
  • 12 พ.ค. 2567 ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่
  • 17 พ.ค. 2567 กกต. ประกาศวันรับสมัครและวันเลือกในทุกระดับ
  • 27 พ.ค. 2567 เปิดรับสมัครผู้มีความประสงค์จะเป็น สว.
  • 27 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2567 ระยะเวลารับสมัคร
  • 22 มิ.ย. 2567 วันเลือกลำดับอำเภอ
  • 29 มิ.ย. 2567 วันเลือกระดับจังหวัด
  • 9 ก.ค. 2567 วันเลือกระดับประเทศ
  • 14 ก.ค. 2567 กกต. ประกาศผลการสรรหา สว. ในพระราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้น กระบวนการสรรหา สว. ตั้งแต่เริ่มประกาศพระราชกฤษฎีกาจะใช้เวลาอย่างมากที่สุดประมาณ 64 วัน ทำให้คนไทยจะต้องรออย่างน้อยกว่าสองเดือนกว่าที่ สว. ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยในระหว่างกระบวนการสรรหานี้ สว. 250 คนชุดแต่งตั้งโดย คสช. ก็จะยังรักษาการณ์ต่อไป โดยยังมีอำนาจในการผ่านกฎหมายและให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระอยู่เช่นเดิม แต่จะสูญเสียอำนาจบางประการไป เช่น อำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจะหมดลงในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกสสมาชิกวุฒิสภา

การแบ่งกลุ่มการสมัครรับเลือก สว. รวมทั้งสิ้น 20 กลุ่ม ประกอบด้วย 

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  3. กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  4. กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  20. กลุ่มอื่นๆ

เมื่อผู้สมัครรับเลือก สว. ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จะเข้าสู่การเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ผู้สมัครแต่ละคนเลือกสมัครได้แค่ 1 กลุ่ม และใน 1 อำเภอเท่านั้น ทุกกลุ่มจะเลือกกันเอง ตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอแล้วไปคัดเลือกกันเองในระดับจังหวัด จากนั้นเข้าสู่กระบวนการไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ

เมื่อผ่านการเลือกทั้ง 3 ระดับ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของกลุ่ม จาก 20 กลุ่ม จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. 200 คน

แม้ตามวัตถุประสงค์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จะคิดค้นวิธีกระบวนการเลือก แบ่งเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้ได้สว.ที่มีความรู้ ความสามารถมาจาก วิชาชีพที่หลากหลายเข้ามาทำหน้าที่ ป้องกัน ภาคการเมืองเข้ามาควบคุม ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตรงเพียงอย่างเดียว หรือสรรหาเพียงอย่างเดียวอย่างที่เคยเป็นมา

จึงได้ออกแบบวิธีเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมเริ่มจาก อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ อันค่อนข้างสลับซับซ้อน กระบวนการดังกล่าวจะป้องกันการเมือง ไม่ให้เข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ได้ สว.ที่มีความเป็นอิสระจริงได้หรือไม่ คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

ผู้สมัคร สว. ต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้

  • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
  • ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
  • เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา  

ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย “อื่น ๆ หรือในทำนองเดียวกัน” จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

ที่มา : iLaw

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related