svasdssvasds

ย้อนดู อำนาจ ส.ว. กับการเลือกนายกฯ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน จับตาเลือกตั้ง 66

ย้อนดู อำนาจ ส.ว. กับการเลือกนายกฯ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน จับตาเลือกตั้ง 66

ย้อนดู อำนาจ ส.ว. กับการเลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน กับการโหวตเลือกนายกฯ มีมาตั้งแต่เมื่อไร และ ในอดีต ส.ว. มาจากไหน ?

ทุกคนในประเทศ คงจดจำถึง “พรรค ส.ว. 250” ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้ ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด โดย วุฒิสภาชุดที่ 12 ที่มาจากการแต่งตั้ง ของประเทศไทย ถือว่า มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็น ส.ว.ชุดแรกและชุดเดียวที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ 

SPRiNG ชวนดูประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ ส.ว. ในประเทศไทย ที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน 

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตลอด  77 ปี ของ “วุฒิสภา” หรือ “ส.ว.” ซึ่งถือกำเนิดครั้งแรก เมื่อปี 2489 โดยตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ ประเทศไทยมี ส.ว. มาแล้ว 12 ชุด   ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ต้องบอกว่า ส.ว. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 12) นี่แหละที่มีอำนาจแบบทะลุกราฟ 

โดยเฉพาะอำนาจพิเศษในบทเฉพาะกาล 5 ปี ตาม “รัฐธรรมนูญปี 2560” ที่ให้อภิสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกฯ ทั้งๆ ที่เป็น ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง  และนั่นเป็นเหตุทำให้ถูก ส.ว. ถูกสาดด้วยคำ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าขัดหลักการขั้นพื้นฐานประชาธิปไตย ในระดับย้อนแย้ง ส.ว. ชุดนี้จึงน่าจะถูก "ต่อว่า" หนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องได้รับมติเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 นั่นก็คือ 84 คนขี้นไป

 

ที่ผ่านมา จึงมีเสียงเรียกร้อง  ปนวิงวอน ส.ว. ชุดนี้  ขอให้ร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญ กดดันให้ปิดสวิตช์ตัวเอง เพื่อความสง่างาม แต่ก็ยังไม่เป็นผล  จนพวกเขาอยู่ในตำแหน่งใกล้ครบวาระ และจะมีโอกาสได้เลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้  และในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ ก็กึ่งๆ มีคำร้อง ขอให้  ส.ว. เคารพ ฉันทามติ จากประชาชน ให้เลือกนายกฯ ตามเสียงประชาชน ที่เลือก ตามพรรค ส.ส. ที่ได้ เสียงมากที่สุด และ จัดตั้งรัฐบาลได้ด้วย
 

• ที่มา (และที่ไป) ของ ส.ว. ไทยตามรัฐธรรมนูญ 2489 - ปัจจุบัน  เฉพาะรัฐธรรมนูญในระบบที่กำหนดให้มีวุฒิสภา (หรือพฤฒสภา)

เช็กที่มา ส.ว. 

2489 (ฉบับพฤฒสภา)  ที่มา ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่ในวาระเริ่มแรก ให้สมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 ที่มีอยู่เดิมก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผู้เลือกตั้งไปก่อน , วาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เฉพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 3 ปีให้จับสลากออกครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด เหตุสิ้นสุด เพราะ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

2490 (ฉบับชั่วคราว) ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ , วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เฉพาะวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 3 ปี จับสลากเปลี่ยนสมาชิกใหม่ครึ่งหนึ่ง , เหตุสิ้นสุด รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 (โดยวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 ถือเป็นวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป คือ ฉบับ พ.ศ. 2492 ด้วย)

2492 ที่มา พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง , วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เฉพาะวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 3 ปี จับสลากเปลี่ยนสมาชิกใหม่ครึ่งหนึ่ง , จุดสิ้นสุด รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

2511  ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เฉพาะวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 3 ปี จับสลากเปลี่ยนสมาชิกใหม่ครึ่งหนึ่ง. จุดสิ้นสุด รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 

2517 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2518) ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ*   (โดย รัฐธรรมนูญ 2517 ปัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง โดยประธานองคม มนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนที่จะมีการแก่ไขรัธธรรมนูญเป็นฉบับแก่ไขเพื่มเติม 2518 หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชบันทึกไม่ทรงเห็นด้วย)  , วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เฉพาะวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 3 ปี จับสลากเปลี่ยนสมาชิกใหม่ครึ่งหนึ่ง ,จุดสิ้นสุด รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 

2521 ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ , วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ในวาระเริ่มแรกให้จับสลากออก 1 ใน 3 เมื่อครบ 2 ปีแรก และอีก 2 ปีถัดมาให้จับสลากออกกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือจากการถูกจับสลากออกคราวแรก , จุดสิ้นสุด มีการปฏิบัติหน้าที่ครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมีการแต่งตั้งสมาชิกใหม่ตามรอบต่างๆ กระทั่งการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

2534 ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ, วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันแต่งตั้งครั้งแรก จับสลากเปลี่ยนสมาชิกใหม่ครึ่งหนึ่ง (แต่ในวาระเริ่มแรกให้มีวาระดำรงคำแหน่ง 4 ปีตามบทเฉพาะกาล , จุดสิ้นสุด ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538

2538 (รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5) , ที่มา การแต่งตั้ง โดยนายกฯ ถวายคำแนะนำ , วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี , จุดสิ้นสุด ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

2540 ที่มา ประชาชนเลือกตั้ง วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี , จุดสิ้นสุด ในปี 2549 ส.ว. เลือกตั้งชุดแรกปฏิบัติหน้าที่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และมีการเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ แต่ยังรับรองผลไม่ครบ ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

2550 ที่มา มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจังหวัดละ 1 คน (76 คน) ที่เหลือ (74 คน) มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา , วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเฉพาะ ส.ว.สรรหาในวาระเริ่มแรกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี , จุดสิ้นสุด ส.ว.เลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระในปี 2557 และส.ว.สรรหาในวาระเริ่มแรก ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระในปี 2554 ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2550  ส.ว.เลือกตั้งและสรรหาที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อมาสิ้นสุดหน้าที่จากเหตุรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 

2560 (ตามบทเฉพาะกาล) ที่มา การแต่งตั้งโดยการเลือกของ คสช. รวมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม , วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี , (ยังดำรงอยู่ในช่วงบทเฉพาะกาล) 
 

• การโหวตเลือกนายกฯ  ที่กลายเป็นประเด็น เกี่ยวพัน อำนาจ ส.ว.

ทั้งนี้ นายกฯ จากการเลือกตั้ง 2562 เป็นนายกฯ คนแรก ที่ได้รับ การโหวตเลือกนายกฯ จาก ส.ว. ด้วย 

 โดย การโหวตเลือกนายกฯ ได้กำหนดว่า ผู้ที่จะได้ตำแหน่งดังกล่าว จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว. = 750 คน) นั่นก็คือ 376 คนขึ้นไป ทำให้เหล่า ส.ว.ชุดปัจจุบัน (ส.ว. ชุดที่ 12)  ได้รับการเปรียบเทียบ เป็น “พรรคตัวแปรที่ทรงพลานุภาพยิ่งนัก” ทั้งที่พวกเขา ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ แต่ อำนาจ ส.ว. มีเต็มไม้เต็มมือ

และ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีคะแนนเลือกนายกฯ ถึง 250 เสียง ซึ่งหากเทไปทางฝั่งใด ฝั่งนั้นถึงแม้จะรวบรวมจำนวนเสียง ส.ส. ได้แค่หลักร้อยต้นๆ ก็อาจได้เป็นรัฐบาล 

ส่วนที่กล่าวอ้างว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้ ยังไงๆ พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกิน 250 เสียงก่อน เพราะหากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะไม่สามารถบริหารประเทศได้” นั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ ก็ได้มีการเปิดช่องทางกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว นั่นก็คือ ส.ส. มีอิสระในการโหวต สามารถโหวตสวนมติพรรคได้ หากถูกพรรคขับออก ก็ยังไม่สูญสิ้นสถานภาพ เพียงแต่ต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ทัน ตามเวลาที่กำหนด

ดังนั้น ในกรณีที่บางพรรคอยากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 แต่เข้าตาจน เพราะรวบรวมเสียง ส.ส. ได้ไม่มาก หากสมมตินะ สมมติว่า ถ้า “แคนนิเดตฯ ของพรรคได้เสียงรับรองจากทั้ง 2 สภา เกิน 376 เสียง ก็มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ไปก่อน แล้วค่อยไปกวาดเสียง ส.ส. จากพรรคต่างๆ ในการโหวตญัตติที่สำคัญ ซึ่งหากมาตามแนวทางนี้ ในวันนั้นก็จะมี “งูเห่า” เลื้อยข้ามฟากพรรคการเมืองไปหมด

• ส.ว. 250 คน มาจาก “กลุ่มอำนาจ” ที่ยังมีผลชี้เป็นชี้ตาย ในการเลือกตั้ง 2562 และ เลือกตั้ง 2566 ?  

“ส.ว.” ชุดที่ 12 หรือชุดปัจจุบัน ได้เริ่มทำหน้าที่ เมื่อปี 2562 จะหมดวาระลงในปี 2567 แบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

ส่วนที่ 1 เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน

ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ผู้บัญชาการทหารบก , ผู้บัญชาการทหารอากาศ , ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วนที่ 2 กลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 50 คน

คัดเลือกในกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งถูกกำหนดไว้ 10 กลุ่ม จนได้รายชื่อ 200 คน แล้วส่งให้ “คสช.” ซึ่งมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้าคณะ และมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นรองหัวหน้าคณะ ทำการคัดเลือกให้เหลือ 50 คน

ส่วนที่ 3 สรรหาโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ก่อนส่งให้ คสช. เคาะ 194 คน

คสช. ทำการแต่งตั้ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทำหน้าที่สรรหาบุคคล 400 คน ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน

โดย เมื่อพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. 250 คน ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกับ คสช. อย่างชัดเจน โดยทั้ง “หัวหน้า คสช.” นั่นก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “รองหัวหน้า คสช.” นั่นก็คือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ก็ยังคงมีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งปี 2566 ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งผู้เขียนขอทิ้งท้ายบทความ ด้วยประวัติศาตร์ฉบับย่อของ ส.ว.ไทยทั้ง 12 ชุด ดังต่อไปนี้

ส.ว. ชุดที่ 1 พฤฒสภา (ปี 2489 – 2490) มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  (ให้ ส.ส. ในสภาเลือก)  โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 2 (ปี 2490 – 2494) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 3 (ปี 2511 – 2514) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 4 (ปี 2518 – 2519) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 5 (ปี 2522 – 2534) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 6 (ปี 2535 – 2539) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 7 (ปี 2539 – 2543) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 8 (ปี 2543 – 2549) มาจากการเลือกตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 9 (ปี 2549) มาจากเลือกตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ 
ส.ว. ชุดที่ 10 (ปี 2551 -  2557) มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 11 (ปี 2557) มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้
ส.ว. ชุดที่ 12 (2562 - ปัจจุบัน) มาจากการแต่งตั้ง... แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้

ที่มา NATION 

related