svasdssvasds

ที่มา ส.ว. 250 คน มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร มีผลกับการเลือกตั้ง 2566 อย่างไรบ้าง

ที่มา ส.ว. 250 คน มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร มีผลกับการเลือกตั้ง 2566 อย่างไรบ้าง

เมื่อ ส.ว. เฉพาะกาล ที่มาจากการเลือกของ คสช. ยังคงไม่หมดอำนาจ โดยอำนาจพิเศษที่ 250 คนนี้มีคือ สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ เปิดที่มา ส.ว. 250 คน ทำหน้าที่อะไร มีผลกับการเลือกตั้ง 2566 อย่างไรบ้าง รวมไว้ให้ครบที่นี่

 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังมีข้อที่ แตกต่างกันเช่น จํานวน ที่มา การสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ได้กําหนดจํานวนและ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้แตกต่างกันบ้าง เช่น

• รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ กําหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจํานวน 200 คน

• รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กําหนดให้วุฒิสภามีจํานวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 

 ส่วนรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดให้จํานวนและที่มาของวุฒิสภาไว้สองช่วงเวลา คือ

• ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่กําหนดให้วุฒิสภามีจํานวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนําโดยมาจากการดําเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจํานวน 50 คน และมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาสมาชิก วุฒิสภาจํานวน 194 คน รวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ ทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• นักวิชาการ เปิดโหวต ถามประชาชน เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ

• ย้อนดู อำนาจ ส.ว. กับการเลือกนายกฯ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน จับตาเลือกตั้ง 66

• ต่าย ชุติมา กดดัน ส.ว. เคารพเสียงประชาชน หลัง พิธา นำก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง

• ช่วงที่ 2 คือ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วให้วุฒิสภามีจํานวน 200 คน ซึ่งมา จากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะ ที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

 สําหรับการถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ออกจากตําแหน่งนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กําหนดให้วุฒิสภามีอํานาจถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งนั้นออกจากตําแหน่งได้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่ได้กําหนดให้มีอํานาจถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ออก จากตําแหน่ง

 แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งอํานาจและหน้าที่เช่นเดิมหลายประการ อาทิการให้ความเห็นชอบผู้ดํารง ตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง การให้ความเห็นชอบผู้ตรวจการ แผ่นดิน การให้ความเห็นชอบกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติการให้ความเห็นชอบ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือมีสิทธิเข้าชื่อขอเปิด อภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในวุฒิสภา เป็นต้น 

 

 

 ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดที่มา ส.ว. เอาไว้แล้วโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ในระยะเวลา 5 ปีแรก นับตั้งแต่ 2562-2567 ส.ว. ก็ยังมีที่มาแบบ "พิเศษ" กว่าปกติอีก 

ส.ว. 250 คน มีที่มาจาก 3 ช่องทาง 

• ช่องทางที่ 1 ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน 

• ช่องทางที่ 2 มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ

• ช่องทางที่ 3 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย "แบ่งกลุ่มอาชีพ" เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน 

 ส.ว. ชุดพิเศษที่มีที่มาแบบพิเศษ ก็ยังมีอำนาจ "พิเศษ" อยู่หลายประการ อำนาจที่สำคัญ คือ

• การร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังการเลือกตั้ง

• มีอำนาจลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "ปฏิรูปประเทศ"

• อำนาจการลงมติด้วยเสียง 1 ใน 3 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

• ส่วนอำนาจแบบปกติเช่นเดียวกับ ส.ว. ชุดปกติ เช่น การพิจารณากฎหมาย การพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ยังอยู่ในมือของ ส.ว. ชุดนี้ด้วยเช่นกัน

 ส.ว. ชุดพิเศษ เข้ารับตำแหน่งและทำผลงานในการพิทักษ์ระบอบของ คสช.​ ได้อย่างเต็มที่ เริ่มจากการลงมติเลือกให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ชนิดเอกฉันท์ เสียงไม่แตกเลย อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือ การลงมติว่าจะ "ไม่" แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาและอำนาจของพวกเขา ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วอีกหลายยก 

 รายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภานั้น ตาม คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) จำนวนทั้งหมด 10 คน ได้แก่

1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการ

3. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. เป็นกรรมการ

4. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. เป็นกรรมการ

5. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. เป็นกรรมการ

6. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ

7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ

8. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ

9. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ

10. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นกรรมการ

ซึ่งทั้ง 10 คน เป็นข้าราชการทหารตำรวจถึง 7 คน และเป็นคนที่ทำงานกับ คสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหมด 

ทั้งนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เพื่อคัดเลือกคนที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้มีการระบุเหตุผลไว้ ทำให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. เหลือเพียง 9 คน 

ท้ายที่สุด มีคณะกรรมการ ‘เลือก’ ตัวเองเป็น ส.ว. ด้วย คือ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร, พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และ พรเพชร วิชิตชลชัย

ที่มา : รัฐสภาไทยilaw

related