svasdssvasds

เศรษฐา ยืนยัน "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" จ่ายรวดเดียว ไม่แบ่งจ่าย

จากกรณี นักวิชาการออกมาบอกว่าจะมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่านโยบาย "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" จ่ายทีเดียว ไม่แบ่งจ่าย

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โพสต์คลิปวีดิโอลง X (ทวิตเตอร์เก่า) ระบุว่า ที่มีนักวิชาการออกข่าวไปว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล” จะทยอยจ่ายนั้น ไม่จริง จ่ายครั้งเดียวครับ ขอยืนยัน

หลังก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยออกจดหมายลงสื่อโซเชียลมีเดีย ชี้แจงกรณีเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่านโยบายนี้จ่ายเพียงครั้งเดียว ส่วนที่เป็นกระแส ว่ามีการแบ่งจ่ายเงินก้อนนี้ เป็นครั้งละ 2 - 3 พัน เรื่องนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว

พรรคเพื่อไทยยืนยันอีกครั้งว่าการจ่ายเงิน Digital Wallet 10,000 บาท จ่ายเพียงครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นทั้งการบริโภค และการลงทุนทั่วประเทศ

เรื่องนี้น่าจะมีที่มาจากการที่นายกิตติ ลิ่มสกุล รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  และหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดว่าอาจแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ประมาณ 2-3 งวด มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทีเดียวเลย

อาจจะให้ในโอกาสดีๆ เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก่อนสงกรานต์อาจมีก่อนงวดแรกให้ 2,500 บาท จากนั้นให้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจประเมินผล หากมีรายงานว่าได้ผลดี มีการจับจ่ายใช้สอย คนขายของเข้าสู่ระบบภาษี แบบนี้อาจให้อีกงวด 2,500 บาท แล้วพอเข้าเดือนเมษายน ก็ให้อีก 5,000 บาท ก็ครบ 10,000 บาท

เชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตประมาณ 3 % ยืนยันว่านโยบายนี้พรรคเพื่อไทยทำแน่ และเล็งว่าจะสามารถให้เงิน 10,000 บาทได้ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค. 2567 แต่ถ้าไม่ทันก็อาจจะเป็น ก.พ. หรือ มี.ค. แต่สงกรานต์ได้แน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

- คนไทยที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องมีบัตรประชาชน

- สำหรับประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการอื่นๆ เช่น คนชรา คนพิการ ก็ได้จะได้เงินจำนวนเต็มเช่นกัน

 

เงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

เงินก้อนนี้สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าต่างๆ ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน (มีการยืดหยุ่นในบางพื้นที่) มีระยะเวลาให้ใช้ภายใน 6 เดือน จะใช้จ่ายครั้งเดียวหรือทยอยใช้ได้

ห้ามซื้ออะไรได้บ้าง

สามารถใช้ซื้อสินค้าต่างๆได้ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต  เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เครื่องมือทำกิน ตามร้านค้าในชุมชน
แต่ห้ามนำไปซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น

related