svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา  : เบื้องหลังเอกชนรวมพลัง ต้านภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

ทางออกนอกตำรา  : เบื้องหลังเอกชนรวมพลัง ต้านภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ทางออกนอกตำรา 

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

เบื้องหลังเอกชนรวมพลัง ต้านภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน

กฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนบัดนี้มีการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการ วาระ 2 กำลังเข้าสู่วาระ 3 แต่ดูเหมือนการปฏิรูปภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้มีปัญหายุบยิบ รุนแรงไปหมด

เฉพาะในวาระที่ 2 ปรากฏว่าที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีข้อถกเถียงกันมากในเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษี เนื่องจากอัตราภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ทั้งคนจน คนชั้นกลาง และคนรวย เพราะบางแห่งอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นพันกว่าเท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการคิดอัตราภาษีใหม่ต้องใช้การประเมินตามอัตราที่ดินใหม่

ถึงขนาดที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องออกแรงใช้มือของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศออกมายับ

ยั้งและให้เสนอปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมา เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลซึ่งขณะนี้มีข้อมูลเล็ดลอดออกมาพบว่า มีข้อเสนอที่สะท้อนถึงปัญหากว่า 1 หมื่นหัวข้อ “เรียกว่าไม่สะเด็ดนํ้า”

วันที่ 22 กันยายน 2560 ในที่สุดที่ประชุมกรรมาธิการฯ ก็มีมติขอขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ออกไปอีก 60 วัน จากเดิมกำหนดสิ้นสุดเดือนกันยายน 2560 ไปสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2560 แต่ยังไม่แน่ว่าจะยุติหรือไม่

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ที่เป็นหัวเรือหลักในการทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ ออกมายอมรับว่า ถ้าไม่เสร็จหรือไม่ได้ข้อสรุป ก็อาจขอขยายเวลาออกไปได้อีก

อะไรที่เป็นปัญหาและทางออกอยู่ตรงไหน!!!

ผมสแกนรายละเอียดไปก็พบปัญหาในข้อกฎหมายมากมายเหลือคณา...อันดับแรก เรื่องอัตราเพดานภาษีที่รัฐบาลเสนอให้ สนช.พิจารณา แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ที่ดินเพื่อการเกษตร มีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่า 50-100 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้เก็บ 0.10%

2. เป็นที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เพดานภาษี 0.5% เว้นภาษีบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท บ้าน 50-100 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.10% สำหรับบ้านหลังที่ 2 มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.03% บ้าน  50-100 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.10%

3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ หรือกรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆเช่นพาณิชย  กรรม อุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 2% โดยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% มูลค่า 20-50 ล้านบาท เสีย 0.5% มูลค่า 50-100 ล้านบาท เสีย 0.7% มูลค่า 100-1,000 ล้านบาท เสีย 0.9% มูลค่า 1,000-3,000 ล้านบาท เสีย 1.2% และมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท เสีย 1.5%

4. ที่ดินว่างเปล่า หากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้น 0.5% ทุกๆ 3 ปี แต่สุดท้ายต้องไม่เกิน 5%

เฉพาะกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรมีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะนี้กรรมาธิการได้มีการแก้ไขใหม่จากที่รัฐบาลเสนอกำหนดยกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาทในทุกแปลง ไม่ต้องเสียภาษี แต่กรรมาธิการฯปรับใหม่ เป็นการกำหนดเป็นพื้นที่รวมใน 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาลและกทม. ถ้าเกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีทันที

เดิมถ้าพื้นที่เกษตรกรรมในอบต.นี้ มี 20 แปลง แปลงละ 10 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นทั้งหมด แต่กฎหมายใหม่จะยกเว้นเฉพาะ 50 ล้านบาท ไม่ว่าจะมีกี่แปลงรวมกัน แต่อีก 150 ล้านบาท ต้องเสียภาษีทันที อันนี้ก็ยุ่งยากในการจัดเก็บไม่น้อย

เรื่องบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทที่รัฐบาลเสนอยกเว้นภาษีนั้น ในชั้นกรรมาธิการฯได้สรุปตรงกันแล้วว่าจะเก็บบ้านที่มีราคา 20 ล้านบาท  เพราะบ้านราคา 50 ล้านบาทขึ้นไปนั้น มีแค่ 11,000 หลังเท่านั้น

แต่นั่นมิใช่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้องชะลอออกไป จนบรรดาหอการค้าต้องพาเหรดกันออกมา “ส่งเสียงดัง” ไปยังรัฐบาลทหาร เพราะส่วนใหญ่ 90% ถือครองที่ดินที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว มีเพียงส่วนน้อยราว 10% เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบ

ประเด็นอยู่ที่นี่ “ที่ดินสิ่งปลูกสร้างใจกลางเมืองในย่านธุรกิจ” ที่บรรดาขาใหญ่ถือครองจะต้องเสียภาษีใหม่ตามอัตราใหม่ที่จะกลายเป็นต้นทุนของบรรดาเศรษฐี พ่อค้า นี่แหละคือปัญหา

ปัจจุบันที่ดินย่านสีลม สุรวงศ์ เจริญกรุง เยาวราช สุขุมวิท ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา สงขลา โคราช ขอนแก่นที่ดินแค่ 100-200 ตร.ว มีมูลค่าเป็น 50-100 ล้านบาท เข้าไปแล้ว ย่อมโดนชาร์จภาษีกันไปหลังแอ่น

บรรดาพ่อค้าที่ถือครองที่ดินเหล่านั้น ก็ต้องส่งผ่านไปยังผู้เช่า ที่ต้องเสียภาษีแบบขั้นบันไดตามกรณีที่ 3

ถ้าคิดภาษีในอัตรา 0.1% ราคา 50-100 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 5 หมื่น-1 แสนบาท เมื่อต้องถูกประเมินและเสียภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่ สุดท้ายก็ต้องผลักภาระไปยังผู้เช่าคนอื่นๆ

“ที่ดินตาบอด” ที่ถูกปิดทางเข้าออก จะขายออกไปก็ไม่ได้ ที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์ อยู่ในแนวเขตเวนคืน อยู่ในเขตผังเมืองที่ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง จะต้องถูกประเมินภาษีตามอัตราใหม่  จะขายก็ไม่ได้ โอนก็ไม่ได้ กลับถูกเรียกเก็บภาษีรายปี โดยไม่มีข้อยกเว้น

อีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นปมใหญ่ที่บรรดาสมาชิกหอการค้ายกมาคัดค้านคือ  กฎหมายนี้มีกำหนดโทษจำคุก ในกรณีจ่ายช้าหรือไม่ยอมจ่ายภาษี อันนี้แหละที่หลายคนไม่รู้

กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงบังคับให้ต้องจ่ายภาษีการถือครองที่ดินใหม่เท่านั้น แต่ใครที่ถือครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีอาญาหากดื้อดึงไม่เสียภาษี

นี่คือปมใหญ่ที่กระทรวงการคลังต้องเร่งหาทางออก ก่อนกฎหมายนี้จะแท้งคาสภา...รีบไปล็อกคอหอการค้า-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-ขาใหญ่ในประเทศด่วน...

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ /ฉบับ 3299  ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ย.2560

related