svasdssvasds

ที่นี่ไม่มีความลับ : จบแบบไหน! ร.พ.กรุงเทพ กฎหมายหรือกฎแห่งกรรม?

ที่นี่ไม่มีความลับ : จบแบบไหน! ร.พ.กรุงเทพ กฎหมายหรือกฎแห่งกรรม?

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ที่นี่ไม่มีความลับ : จบแบบไหน! ร.พ.กรุงเทพ กฎหมายหรือกฎแห่งกรรม?

สมาชิกโครงการไลฟ์ พริวิเลจ คลับ ของโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) อย่าเพิ่งดีใจกับชัยชนะยกแรกที่ศาลแพ่งพิพากษาให้ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร.พ.กรุงเทพ แพ้คดีที่ไปชิงบอกเลิกสมาชิกและไม่ปฏิบัติตามสัญญา เพราะ BDMS ประกาศจะอุทธรณ์ต่อสู้คดี โดยให้เหตุผลว่าเป็น “สิทธิทางกฎหมาย” ฉะนั้นสมาชิกโครงการนี้ต้องไปลุ้นต่อในชั้นอุทธรณ์ เมื่อ BDMS ไม่ยอมแพ้

โครงการไลฟ์ พริวิเลจ คลับ ของร.พ.กรุงเทพ เกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” หลังปี 2540 ธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหารวมทั้งธุรกิจโรงพยาบาล จึงมีการคิดโครงการนี้เพื่อดึงเงินจาก “ผู้มีอันจะกิน” เพื่อมาอุ้มธุรกิจโรงพยาบาลที่อาจจะมีโอกาสล้มครืนลงมา หากไม่มี “เงินทุน” มาต่อธุรกิจในขณะนั้นจึงคิดเอาเงินในอนาคตคนอื่น แลกกับโปรโมชั่น รักษาฟรีตลอดชีพ ด้วยการเสียค่าบริการครั้งละ 100 บาท

การระดมทุนครั้งนั้นว่ากันว่า ได้เงิน ราว 700-800 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสให้ BDMS พยุง ฐานะและมาอู้ฟู่ได้ถึงทุกวันนี้

สมาชิกในขณะนั้นต้องเสียค่าสมัครเป็นเงินสดหรือทองคำ เป็นมูลค่าตั้งแต่ 1-2 ล้านบาท แต่ผู้เข้าร่วมโครงการถือว่า ซื้อบริการสุขภาพในระยะยาวจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

แต่ในยุคอู้ฟู่ที่มีเงินหมื่นล้านไปซื้อโรงแรมเพื่อทุบทิ้งสร้างธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มเติม กลับ “เขี่ย” ผู้มีบุญคุณในยามวิกฤติทิ้ง ด้วยการประกาศเลิกโครงการนี้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เกิดการคัดค้านและนำไปสู่การฟ้องร้องทั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และศาลแพ่ง 

ในขณะที่ “เสือกระดาษ” อย่าง สคบ.ทำงานเชื่องช้า (ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ช้า) ศาลแพ่งได้ทำให้ความยุติธรรม “ไม่ล่าช้า”พิพากษาให้ BDMS แพ้คดี ต้องเปิดโครงการสมาชิก ไลฟ์ พริวิเลจ คลับต่อ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายและค่าทนาย แต่ BDMS ที่ประกาศว่าเคารพศาล กลับขออุทธรณ์คำสั่ง!

แน่นอนเป็นวิธีทางกฎหมายดังที่ BDMS ประกาศ แต่สิทธิทางกฎหมายไม่ได้สูงเกินกว่า “มโนสำนึกแห่งความรับผิดชอบชั่วดี”  ผู้บริหารควรพิจารณาเรื่อง “สำนึก” ควบคู่สิทธิทางกฎหมายด้วยว่าควรจะต่อสู้กับผู้เคยมีพระคุณต่อโรงพยาบาลอีกต่อไปหรือไม่

ร.พ.กรุงเทพ ก็มีกำไร จนทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กลายเป็นผู้รวยหุ้นที่สุดในประเทศไทยในผลการสำรวจปีนี้ไปแล้ว เมื่อผลประกอบการดี มีกำไรจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นได้เป็นกอบเป็นกำ การต้องชดใช้บุญคุณผู้มีอุปการคุณ อย่างสมาชิกโครงการนี้ด้วยการดูแลกันต่อตามสัญญา ไม่น่าจะเป็นภาระมากเกินไปในธุรกิจโรงพยาบาลที่อู้ฟู่ขนาดนี้ จงไตร่ตรองให้ดีว่าถ้าสู้ต่อไปตามสิทธิทางกฎหมาย ท่านอาจจะพลิกกลับมาชนะทางคดี แต่ในความดีและความชอบธรรมท่านจะชนะหรือไม่

แน่นอนไม่มีใครสามารถตัดสินได้ว่า อะไรคือความดีความชอบธรรม เพราะแต่ละคน “มาตรฐานไม่เหมือนกัน” บางคนอาจคิดว่าเร่งหาเงินไปใช้ในนรกหรือสวรรค์เถอะเพราะมันเอาไปได้ (เผาเป็นแบงก์กงเต๊กไป) แต่บางคนบอกว่าอย่าเลยเพราะ “ตายแล้วเอาไปไม่ได้” ก็แล้วแต่จะคิด ซึ่งทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจดี ไม่ว่ากัน

ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BDMS ขณะนี้ 3 อันดับแรก คือ 1.น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จำนวน 2,893,602,540 หุ้น หรือคิดเป็น 18.68% 2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,008,418,690 หุ้น คิดเป็น 6.51% 3.บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 948,283,830 หุ้น คิดเป็น 6.12% นี่ยังไม่รวมคนในครอบครัว ปราสาททองโอสถ ที่ถือหุ้นใน BDMS อีกจำนวนหนึ่ง

.............................

คอลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ/ หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3323 ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค.2560

ที่นี่ไม่มีความลับ : จบแบบไหน! ร.พ.กรุงเทพ กฎหมายหรือกฎแห่งกรรม?

related