svasdssvasds

ชั้นไม่ไหวแล้ว...การรับมือ กับ ภาวะ“สองคนในร่างเดียว”

ชั้นไม่ไหวแล้ว...การรับมือ กับ ภาวะ“สองคนในร่างเดียว”

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ชั้นไม่ไหวแล้ว...การรับมือ กับ ภาวะ“สองคนในร่างเดียว”

ประเภทของคนที่ไม่อยากเจอที่สุด คือ คนที่เดาอารมณ์ยาก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย วันนี้คุยกันดีๆ พรุ่งนี้โดนตะคอกใส่ซะแล้ว ถึงขั้นนั่งวิตกจริตเองว่า เราไปทำอะไรให้เขาโมโห แถมยังเดาไม่ออกด้วยว่าพรุ่งนี้จะมาไม้ไหน หลายคนมองว่าอารมณ์แปรปรวนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ความจริงแล้ว คนที่มีอารมณ์แปรปรวนอยู่บ่อยๆ อาจเข้าข่ายคนที่เป็นโรคทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก!

 

เรากำลังพูดถึง "โรคไบโพลา" สองอารมณ์ในคนเดียว

เชื่อหรือไม่ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ หลายแสนคนแล้ว ลักษณะอาการที่อธิบายได้ง่ายที่สุดของโรคนี้คือ เป็นคนที่อารมณ์แปรปรวนขั้นหนัก ระหว่างอารมณ์เศร้าสุดขั้ว กับอารมณ์ร่าเริงสุดขีด คนที่อยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยโรคนี้ มักจะคาดเดาอาการไม่ค่อยถูก แต่ถึงแม้จะน่ากลัวขนาดไหน ก็ไม่ควรทอดทิ้งคนกลุ่มนี้ เพราะอาจจะยิ่งทำให้อารมณ์แปรปรวนมากขึ้นจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

สาเหตุของโรคนี้

โรคไบโพลาร์ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ รวมไปถึงสาเหตุด้านพันธุกรรม ซึ่งถ้าพ่อแม่เป็นโรคนี้มาก่อนแล้ว ลูกก็มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนอื่น นอกจากนี้สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็มีผลด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน การเรียน ปัญหาครอบครัวต่างๆ

โรคไบโพลาร์ จะแบ่งได้ตามนี้

  1. ภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode) คือภาวะที่รู้สึกเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ป่วยบ่อย ท้อแท้กับชีวิต รู้สึกชีวิตมีปัญหา หงุดหงิดบ่อย ร้องไห้เป็นว่าเล่น รู้สึกคนอื่นทำอะไรก็ไม่ถูกใจ อยากโวยวาย ไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวาย ไม่อยากออกสังคม เบื่อทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องกิน บางคนกินไม่ลง จนน้ำหนักลดไปหลายกิโล ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะนี้มีเปอร์เซนต์ในการทำร้ายตัวเองและอยากฆ่าตัวตายสูงมาก

แต่ไม่เหมือนกันนะคะ ต้องแยกระหว่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากับภาวะซึมเศร้าในไบโพลาร์ เพราะอาการของคนสองกลุ่มแม้จะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาด้วย ความแตกต่างภาวะซึมเศร้าในไบโพลาร์ต่างจากโรคซึมเศร้า ก็คือ ขาดสมาธิ คิดอ่านช้าลง มองตัวเองไร้ค่า หวาดระแวงคนอื่น คิดว่าไม่มีใครเป็นมิตรกับตัวเอง และอาจจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงกับสารเสพติดและพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย

  1. ภาวะแมเนีย (Mania Episode) หรือ ภาวะคลุ้มคลั่ง อาการในช่วงนี้จะอารมณ์ดีผิดปกติ พูดง่ายๆ คือ คนปกติก็อารมณ์ดี หัวเราะร่าเริง พูดคุยปกติ แต่ภาวะแมเนียที่เกิดขึ้น จะมีพลังเยอะกว่ามากๆ พูดเร็ว คิดเร็ว เสียงดัง คึกคักเกินหน้าเกินตาจนคนอื่นควบคุมไม่อยู่ เชื่อมั่นตัวเองแบบสุดขั้ว เอาแต่ใจตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ ถ้าถูกขัดใจเมื่อไหร่ จะเกิดอาการวีน เหวี่ยง ทันที ภาวะแมเนีย เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นรุนแรงจนคนรอบข้างรับมือไม่ไหว ในช่วงแรกจะเกิด ต่อเมื่อเครียดหรือกดดัน แต่ถ้าเป็นเรื่อยๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้น

ชั้นไม่ไหวแล้ว...การรับมือ กับ ภาวะ“สองคนในร่างเดียว”

แล้วแบบไหนถึงเรียกว่า เข้าข่ายไบโพลาร์

สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคนบ่อยๆ เช่น จากที่เคยเรียบร้อย กลายเป็นคนเข้าสังคมเก่ง แต่งตัวจัดจ้าน ขี้โมโห หรือ จากที่เคยเป็นคนร่าเริง มนุษยสัมพันธ์ดี กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบ เหม่อลอย ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะรู้ได้เลยว่าไม่ใช่ตัวตนของคนคนนั้น โดยผู้ป่วยจะเกิดภาวะใดก่อนก็ได้ และจะเป็นภาวะเดิมติดต่อกันหลายๆ รอบ หรือ สลับกับอีกภาวะหนึ่งก็ได้เช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าตัวเองเข้าข่ายโรคไบโพลาร์หรือเปล่า แนะนำให้ไปพบแพทย์

แม้ว่าไบโพลาร์จะดูเป็นโรคทางด้านอารมณ์และจิตใจ แต่ก็สามารถรักษาได้ โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยา มียา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาควบคุมอารมณ์  (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics) และยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants) เพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้จะมียารักษา แต่สิ่งที่สำคัญและดีกว่ายาก็คือ "ครอบครัว" ต้องช่วยกันดูแลด้านจิตใจ เข้าใจว่าเขาป่วย ไม่ใช่คนหัวดื้อหรือก้าวร้าวจากนิสัย ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่เขาเป็น และช่วยให้กำลังใจ ผู้ป่วยไบโพลาร์ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ส่วนผู้ป่วยเองก็ต้องปรับพฤติกรรมตัวเอง อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ การควบคุมความเครียด

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

www.bangkokhospital.com/th/centers-and-clinics/shutdown_bipolar/,

www.manarom.com/article-detail.php?id=94,

www.somdet.go.th/Knowledge_(saranarue)/7.php,

http://edition.cnn.com/2011/HEALTH/03/07/US.highest.bipolar.rates/,

http://blogs.dnalc.org/tag/bipolar-disorder/,

http://depressivedisorder.blogspot.com/2010/03/bipolar-disorder.html,

http://icarencure.com/bipolar-disorder-and-its-symptoms/

related