01 มิ.ย. 2561 เวลา 11:08 น.
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงเปิดภาคเรียนปัญหาที่พบสำหรับเด็ก คือ กระเป๋านักเรียน จากข้อมูลพบว่า เด็กไทยวัยประถม ต้องแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่า ร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ ทั้งหนัก และนานเกินไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กวัยอนุบาล หรือประถมต้น ยังมีการทรงตัวที่ไม่ดีนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการการทรงตัว กำลังแขน-ขา ยังไม่แข็งแรง การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบากมากขึ้น เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า
โดยกระเป๋านักเรียนที่ใช้ อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แบกโดยใช้มือถือ ซึ่งไม่เหมาะกับการถือเป็นเวลานาน อาจเกิดอาการบาดเจ็บ และเสียสมดุลร่างกายได้ง่าย และแบบแขวนหลัง ที่มีสมดุลดีกว่า แต่หากแบกน้ำหนักมากเป็นเวลานาน ก็จะเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย โดยเฉพาะแขน ไหล่ และสะบัก
ซึ่งหากกระเป๋ามีน้ำหนักมากแนะนำให้ใช้ กระเป๋าลาก แต่ถ้าน้ำหนักไม่มาก และต้องการแบกเป็นเวลานานควรใช้กระเป๋าโดยแขวนหลัง (back pack) ส่วนกระเป๋าถือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำว่าไม่ควรหนักจนเกินไป และไม่ควรถือเป็นเวลานานๆ