svasdssvasds

10 ข้อกำหนดการใช้เฟซบุ๊กที่คุณต้องรู้ ควรรู้ และไม่รู้ไม่ได้แล้ว

10 ข้อกำหนดการใช้เฟซบุ๊กที่คุณต้องรู้ ควรรู้ และไม่รู้ไม่ได้แล้ว

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

สำหรับประเทศไทยนั้น เราถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยดูจากจำนวนบัญชีเฟซบุ๊กที่มีอยู่ถึง 46 ล้านบัญชี จากจำนวนประชากรราว 70 ล้านคน นั่นถือเป็นราวๆ 70% ของประชากรไทยเลยทีเดียว

ในขณะที่หลายๆครั้งที่ผ่านมา มักมีกรณีตัวอย่างเกี่ยวความน่าสงสัยของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แต่ละรายไปหาประโยชน์ในช่องทางต่างๆ ที่เป็นข่าวใหญ่โต ก็อย่างกรณีการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา หรือบางครั้ง หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเฟซบุ๊กรู้ใจผู้ใช้งานได้มากมายขนาดนั้น มากถึงขนาดที่ว่า คุยโทรศัพท์กับเพื่อนในบางเรื่อง เฟซบุ๊กยังเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่เราคุยเข้ามาให้เราเห็นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ซึ่งในกรณีนี้นั้น เคยมีการพยายามอธิบายจากทางเฟซบุ๊กมาตลอด กระทั่งวันหนึ่ง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ได้ออกมายอมรับเองว่า เฟซบุ๊ก ไม่ได้ใช้คนในการฟังเสียงสนทนา แต่จ้างบริษัทนอกถอดเสียงสนทนาจากการโทรผ่านเฟซบุ๊กแมสเซ็นเจอร์ โดยการใช้คน มานั้งฟังเสียงสนทนาอีกครั้ง ทั้งนี้เฟซบุ๊กอ้างว่าเพื่อเป็นการรีเช็กการทำงานของเอไอ(ปัญญาประดิษฐ์) ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลบนเฟซบุ๊กที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เฟซบุ๊กสามารถหาประโยชน์จากจุดนี้ได้ โดยการทำโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายกลุ่มย่อยได้

เมื่อการใช้เฟซบุ๊ก เริ่มมีพฤติกรรมอำพรางอันชวนสงสัยออกมาอย่างหลากหลาย จนหลายคนเริ่มที่จะไม่ใช้งาน ระวัดระวังตัวมากขึ้นแล้ว จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ข้อกำหนดในการเข้าใช้เฟซบุ๊กที่ผู้ใช้กดอนุญาตไปนั้น มันครอบคลุมเรื่องราวอะไรเอาไว้บ้าง ทีมงานแบไต๋ โดย หนุ่ย พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ หนึ่งใน กูรู ด้านไอทีของประเทศไทย เลยจับเอาข้อมูล ข้อกำหนดการใช้งานเฟซบุ๊กที่มีจำนวนหลายหน้า มาสับย่อยเป็นบะช่อได้ 10 ข้อ ที่เราๆท่านๆควรรู้ ต้องรู้ และไม่รู้ไม่ได้แล้วจริงๆ

1.เฟซบุ๊กไม่เก็บค่าบริการ ดังนั้นผู้ใช้ ต้องยินยอมให้มีโฆษณา โดยอาศัยข้อมูลส่วนตัวของคุณ

2.การปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้คน เป็นหัวใจหลัก เฟซบุ๊กจะไม่ขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้แก่ผู้ลงโฆษณา เว้นแต่คุณให้สิทธิ์แก่เฟซบุ๊ก

3.เฟซบุ๊กสามารถทำรายงานประสิทธิภาพการทำโฆษณา กลับไปหาผู้ลงโฆษณา โดยรวมข้อมูลต่างๆของผู้ใช้เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ระบุตัวตน เว้นแต่ผู้ใช้ให้สิทธิ์ไปกับเฟซบุ๊ก

4.เฟซบุ๊กสามารถใช้เนื้อหาบางอย่างที่คุณแชร์หรืออัพโหลดเข้าระบบได้ โดยเจ้าของสิทธิ์นั้นยังคือผู้ใช้ แต่เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้เฟซบุ๊กได้ต่อไป จำเป็นต้องให้สิทธิทางกฎหมายแก่เฟซบุ๊ก เพื่อให้เฟซบุ๊กใช้ได้ด้วย ลิขสิทธิของภาพ วีดีโอ บทความ เป็นของเรา แต่หากอัพโหลดไปแล้วแชร์แล้ว เท่ากับได้ให้สิทธิ์แก่เฟซบุ๊กไปแล้ว ขณะที่การลบเนื้อหาจากเฟซบุ๊กออกไปนั้น จะเข้าข่ายข้อ 5 คือ

5.เฟซบุ๊กจะยังคงเก็บเนื้อหาทั้งหมดไว้ตามระยะเวลาที่จำเป็น แม้ว่าเราจะลบข้อมูลออกไปแล้วก็ตาม

6.ข้อจำกัดด้านความรับผิดชอบของเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กระบุว่า เฟซบุ๊กออกผลิตภัณฑ์ตามสภาพ ไม่รับประกันว่าผลิตภัณฑ์จะปลอดภัย มั่นคง หรือไม่มีข้อผิดพลาด เฟซบุ๊กขอปฏิเสธความรับผิดชอบในการรับประกันทั้งหมด เฟซบุ๊กไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่แชร์เข้ามา และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียกำไร รายได้ ใดๆ ฯลฯ

7.เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ใช้ปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น เนื้อหาที่ดู คนที่คุย เนื้อหาที่เขียน การแท็ก การคอมเมนท์ การเช็กอิน รวมถึงกล้อง เพื่อนำไปวิเคราะห์แล้วส่งผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าผู้ใช้น่าจะสนใจกลับมาให้เราเลือกซื้อเลือกใช้อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้มากที่ผู้ใช้จะตัดสินใจใช้

8.เฟซบุ๊กเก็บรายละเอียดข้อมูลของอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊ก เช่น มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ททีวี สิ่งที่เฟซบุ๊กเก็บคือ รายละเอียดอุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการ ฯลฯ และอีกส่วนคือ การทำงานของอุปกรณ์นั้นๆ

9.เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลจากพาร์ทเนอร์ เช่นร้านค้าต่างๆ ด้วย ดังนั้น แม้เราจะไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กเป็นเวลานาน หรือแม้แต่ปิดบัญชี ลบบัญชีเฟซบุีกไปแล้ว  แต่ยังเข้าเว็บอื่นๆที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเฟซบุ๊กอยู่ เฟซบุ๊ก ก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ผ่านพาร์ทเนอร์ต่างๆได้อยู่ดี

10.เฟซบุ๊ก ยืนยันว่าจะไม่ขายข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้ใคร แต่เฟซบุ๊กเอาข้อมูลผู้ใช้ไปวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจ แล้วนำเสนอให้ลูกค้าเพื่อเป็นข้อมูลในการทำการขายแก่ผู้ที่สนใจทำโฆษณาบนเฟซบุ๊กให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการเลี่ยงข้อความเรื่องการไม่ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้ใคร อีกทั้งเฟซบุ๊กยังระบุไว้อีกด้วยว่า การขอข้อมูลอื่นๆของผู้ใช้ ต้องได้รับการอนุมัติจากเฟซบุ๊ก ทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนตัวเราแท้ๆ

ทั้งหมดนี้คือคร่าวๆ สำหรับข้อกำหนดการใช้เฟซบุ๊กที่หลายคน หรือเกือบทุกคน แทบไม่เคยได้อ่านมันอย่างละเอียด ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ การเรียนรู้ที่จะตั้งค่าการอนุญาตเข้าถึงของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่อาจเป็นเรื่องที่มองข้ามได้อีกต่อไป เพราะมันเกือบจะหมายถึงการอนุญาตให้ผู้อื่น เป็นเจ้าของตัวตนของเราเอง.....

หนุ่ย พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์

(ชมคลิปเต็มพร้อมวิธีป้องกันและการตั้งค่า)  บทความจากYou Tube แบไต๋ วันที่ 26 ส.ค. 2562