svasdssvasds

ผู้สูงอายุ ควรดูแลอย่างไรในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

ผู้สูงอายุ ควรดูแลอย่างไรในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

ผู้สูงอายุ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในช่วงนี้ที่กำลังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น และนี่คือคำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุจากหลากหลายหน่วยงาน

ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลและใส่ใจมากเป็นพิเศษ หากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจ้าตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

เชื้อไวรัสโควิด 19 สามารถติดต่อได้ทางละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจามหรือการพูดคุยใกล้ชิด ในระยะ 1-1.5 เมตร และการสัมผัสสารคัดหลั่งที่อยู่ตามพื้นผิวต่างๆ แล้วไปโดนเยื่อบุ เช่น ตา จมูก ปาก ประกอบกับการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการได้

ในขณะนี้ทางรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งผู้สูงอายุ เก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการการดูแลจากญาติ หรือผู้ดูแลที่ยังมีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านเพื่อทำงาน หรือ ไปหาซื้อของกินของใช้เข้ามาในบ้าน จึงมีโอกาสนำเชื้อจากภายนอกมาสู่ผู้สูงอายุได้

การจำกัดบริเวณให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้าน เป็นเวลานานติดต่อกันหลายเดือน อาจส่งผลให้สภาพร่างกาย และสมองของผู้สูงอายุถดถอยลงจนเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว รวมทั้ง เกิดความเครียด ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบกับทั้งครอบครัวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

แนวทางป้องกันเชื้อโควิด 19 ไม่ให้แพร่สู่ผู้สูงอายุ

ญาติที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก และ คนรู้จัก

  • ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด 19 หรือ ผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแหล่งที่มีการติดเชื้อในชุมชนในวงกว้าง ทุกรายต้องแยกตัวออกจาก ผู้อื่น และไม่เข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้สูงอายุและเด็กอย่างเด็ดขาด (เนื่องจากเด็กร่างกายไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ เด็กอาจไม่เข้าใจวิธีและขาดความระมัดระวังในการป้องกัน) โดยให้สังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน
  • ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีไข้ ตัวร้อน หรือมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจล้าบาก เข้าเยี่ยมผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด
  • งดหรือลด การมาเยี่ยมจากคนนอกบ้านให้น้อยที่สุด โดยแนะนำให้ใช้การเยี่ยมโดยการโทรศัพท์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แทน
  • ในขณะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ ให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้าทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

ผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุ และ ตัวผู้สูงอายุ

  • ควรจัดให้มีผู้ดูแลหลักคนเดียว โดยเลือกคนที่สามารถอยู่บ้านได้มากและจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านน้อยที่สุด สามารถสลับสับเปลี่ยนผู้ดูแลหลักได้ แต่ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย และต้องแน่ใจว่าผู้จะมาเป็นผู้ดูแลหลัก คนใหม่ ต้องไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
  • ระหว่างมีการระบาดทั้งผู้ดูแลหลัก และผู้สูงอายุ ควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด
  • ทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก (เด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ เด็กอาจไม่เข้าใจวิธีและขาดความระมัดระวังในการป้องกัน)
  • หากผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกเวลาออกจากบ้านที่ไม่เจอกับความแออัด หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ และการไปในที่แออัด ต้องรีบท้าธุระให้เสร็จโดยเร็ว ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือ หน้ากากผ้าทุกครั้ง พกแอลกอฮอล์เจลไปด้วย โดยทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังจับสิ่งของ และก่อนเข้าบ้าน
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลเมื่อกลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที ก่อนไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ
  • หากผู้สูงอายุต้องไปพบแพทย์ตามนัด

    - ในกรณีที่อาการคงที่ และ ผลการตรวจล่าสุดปกติ ให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนนัด หรือไปรับยาแทน หรือรับยาใกล้บ้าน

    - ในกรณีที่อาการแย่ลง หรือ ผลการตรวจล่าสุดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อนัดหมายให้ไปตรวจ ด้วยช่องทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า คลุมผ้าที่ตัวผู้สูงอายุให้มิดชิด และเมื่อกลับถึงบ้าน ให้อาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกาย และของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ และซักเสื้อผ้า และผ้าคลุมทันที

  • ล้างมือด้วยการฟอกสบู่อย่างน้อย 20 วินาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือ ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล โดยทิ้งไว้ให้ชุ่มไม่แห้งเร็วกว่า 20 วินาที ทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน ก่อนเตรียมอาหาร ก่อน รับประทานอาหาร หลังการไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่หากมีการมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันควรแยก รับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับ หรือใช้ภาชนะเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน
  • ผู้สูงอายุควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด ที่พักอาศัยและห้องพักควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้ เครื่องปรับอากาศ
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์เจล sodium hypochlorite (น้ำยาซักผ้าขาว) หรือ chloroxylenol หรือ hydrogen peroxide เช็ด ตาม สวิตช์ไฟ ลูกบิดหรือมือจับประตู โต๊ะ ราวจับ รีโมท โทรศัพท์ พื้น โถส้วม ปุ่มกดน้ำตรงชักโครก ก๊อกน้ำ ระวังพลัดตกหกล้มโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เปียกน้ำ หรือพื้นลื่นที่เป็นผิวมัน

หมายเหตุ

  • sodium hypochlorite (น้ำยาซักผ้าขาว) ไม่เหมาะกับพื้นผิวโลหะ หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 2.54 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 40 มิลลิลิตร (2.8 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 18 มิลลิลิตร (1.2 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 20 มิลลิลิตร (1.3 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 6 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 17 มิลลิลิตร (1.1 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร
  • Chloroxylenol ถ้าความเข้มข้น 4.8 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 25 มิลลิลิตร (1.7 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร
  • hydrogen peroxide ไม่เหมาะกับโลหะและผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลือบสี หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 110 มิลลิลิตร (7.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 3 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 200 มิลลิลิตร (13.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร

หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการไม่ชัดเจนเสี่ยงติดเชื้อ เช่น อาจไม่มีไข้ หรืออาจ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการ ช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะรุนแรงมากกว่าในวัยอื่นๆ

เรียบเรียงข้อมูลจาก

-สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

-สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

-กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

-สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย

-สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

เรื่องน่ารู้จาก COVID-19

อ่านข่าวแนะนำ >>>

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/630786

อ่านข่าวแนะนำ >>>

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/631471

อ่านข่าวแนะนำ >>>

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/634538

อ่านข่าวแนะนำ >>>

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/635009

อ่านข่าวแนะนำ >>>

https://www.springnews.co.th/alive/edutainment-alive/636779