svasdssvasds

Service charge ถ้าร้านบริการไม่ดี ลูกค้าไม่จ่ายได้ไหม?

ไขข้อสงสัย Service charge ที่ร้านอาหารเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มนอกจากค่าอาหาร ลูกค้าจำเป็นต้องจ่ายไหม? แล้วถ้าบริการไม่ดี ลูกค้าสามารถปฏิเสธ ไม่จ่าย ได้หรือไม่? ฟัง ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง

Service charge คืออะไร ?
       เป็นค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ โดยเป็นส่วนที่จะแบ่งให้กับทางพนักงานของร้าน

สรุปให้ก่อน Service Charge รอบนี้
เป็นประเด็นขึ้นมาจากอะไร?

           มีโพสต์นึงใน Facebook จุดประเด็นมาว่า ร้านอาหารเกาหลีชื่อดัง ไม่ควรเก็บ service charge กลายเป็นไวรัล เพราะมีคนมา ไลค์เป็นหมื่น คอมเมนต์เป็นพัน และแชร์ออกไปกว้างขวาง ในเมนต์วิจารณ์กันถึงบริการของร้านดังกล่าวสุดฤทธิ์ บ้างก็เอาไปเปรียบเทียบกับร้านอื่น
Service charge ถ้าร้านบริการไม่ดี ลูกค้าไม่จ่ายได้ไหม?
           และก็มี ผู้ใช้ Facebookอีกท่าน ออกมาพูดทำนองว่า เรื่อง Service charge ในไทย เขาเคยลงกระทู้ไปนานแล้วว่า เขาลองปฏิเสธไม่จ่ายมา สองเดือน ก็สามารถทำได้ เขาปรึกษานักกฏหมายและทนายจบนอกมาแล้ว ว่าลูกค้าสามารถปฏิเสธได้จริง เพราะเป็นภาระที่นายจ้างต้องให้กับลูกจ้างเอง ไม่ใช่ตกเป็นภาระของผู้บริโภค ถ้าหากอยากให้จ่ายก็ต้องไปฟ้องร้องเอง และกฏหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้บริโภคต้องจ่าย แต่กระทู้ในพันทิปนั้นโดนกดรีพอร์ทให้รบไป โดยมิอาจทราบสาเหตุ แต่คนไทยไม่ควรยอมโดนเอาเปรียบแบบนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องปกติ หากร้านบริการดี ลูกค้าอยากให้ทิป นั่นคือสิ่งที่ให้เองตามความสมัครใจ ไม่ใช่มาขูดรีดบังคับจ่ายแบบนี้ จนคาดในอนาคต Service charge อาจมีราคาแพงกว่าค่าอาหารเลยทีเดียว

สรุปแล้ว   Service Charge เราต้องจ่ายไหม?
       สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ชี้แจงว่า  ตามกฏหมายกำหนดว่า หากร้านอาหาร มีการแสดงป้ายชัดว่าร้านมีการเก็บ Service Charge นะ และเก็บไม่เกิน 10% ให้ร้านอาหารสามารถเก็บได้

           และผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องจ่าย หากไม่จ่ายอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เนื่องจากทำผิดสัญญาซื้อขายทางแพ่ง ที่เมื่อเขาแจ้งว่าจะมีการจัดเก็บ เราเดินเข้าร้านไปนั่งกิน ก็ถือว่าเรายอมรับเงื่อนไขทางร้านเขาแล้ว มีผลทางกฏหมายแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

แล้วถ้าร้านอาหารบริการไม่ดี ไม่จ่ายได้ไหมล่ะ?

       ความเห็นของ ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความเห็นว่า " Service Charge หากร้านแสดงป้ายให้เห็นก่อน และ ไม่เกิน 10% ตามกฏหมายลูกค้าเข้าร้านไปทานก็ถือว่ายอมรับเงื่อนไขแล้ว ยังไงก็ต้องจ่าย
           หากร้านบริการแย่ อันนั้นต้องไปฟ้องร้องกัน ในเรื่องของคุณภาพสินค้าและบริการแทน ซึ่งมันมีกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เช่น เราเจอผมในอาหาร หรือ พิสูจน์ ให้ได้ว่าร้านนี้ บริการห่วยจริง ก็ไปฟ้องร้องได้ในข้อนั้น แต่จะถือว่าเอามาเป็นเหตุ ไม่จ่าย Service Charge ไม่ได้ " 


หากไม่อยากจ่าย Service Charge ทำยังไง?
       "  ต้องเข้าชื่อกันให้ สคบ. เปลี่ยน ข้อกฏหมาย ในเรื่อง Service Charge เพราะปัจจุบัน Service Charge เหมือนเป็น ข้อตกลงหลักสัญญา ซื้อขายทางแพ่ง ระหว่าง เจ้าของร้าน กับ ผู้บริโภค ที่ทำกันไว้ ก่อนเข้าร้าน หากเขามีป้ายบอก และ คิดไม่เกินกำหนด

เพราะฉะนั้น จ๊ะโอ๋สรุปให้...
       ยังไงลูกค้าก็ต้องจ่าย Service Charge หากร้านทำตามกฏหมาย แต่หากบริการไม่ดีจริง ก็ไปฟ้องกฏหมายอีกตัวเอา แต่จริงๆ Service Charge จะไม่ใช่ปัญหาเลย ถ้าร้านบริการดี ทำให้ลูกค้า รู้สึกถึงความคุ้มค่า กับค่าบริการที่ลูกค้าจ่ายเพิ่มไป แต่บางร้าน มันไม่ไหวไง ราคาอาหารก็ว่าแพงแล้ว ลูกจ้าง พนักงาน นี่เหมือนไม่เคยถูกเทรนด์ เรียกแล้ว รอนานมาก เหมือนเดินกลับไปสุโขทัย แล้วค่อยมาเสิร์ฟอีกรอบ พูดทีเหมือนดอกพิกุลจะร่วง ประหนึ่งทำงานแล้วไม่เคยได้พักเลย อันนี้ถ้าเรียกเก็บ Service Charge แพง ก็ไม่แปลกที่ลูกค้าจะรู้สึก ไม่อยากจ่าย ไม่ประทับใจอย่างแรง
       แต่เรื่องนี้ มันถือเป็นความพอใจส่วนบุคคล และเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ต้องให้เรื่องถึงโรงถึงศาลหรอก บริการแย่ แต่แพง ลูกค้าเขาเอามาบอกต่อ หรือ ไม่ไปอุดหนุนสุดท้ายร้านก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี ยิ่งสมัยโซเชียลมีบทบาท ในการขับเคลื่อนสังคมแบบปัจจุบัน มันจะยิ่งเป็นตัวเร่ง ให้ร้านอาหาร นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว เร่งสร้างบรรทัดฐานที่เหมาะสม ราคาและความคุ้มค่า คือสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน ร้านไหนอร่อย บริการดี แพงแค่ไหนลูกค้าก็ยอมจ่ายแน่นอน แต่สุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนอย่างเราเองก็ต้องรู้ข้อกฏหมายด้วย ไม่ใช่เขาแชร์กันว่าทำได้ ก็ทำเลย จนไม่รู้สิทธิ์พึงมีที่แท้จริงว่าเราทำไม่ได้ จนอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมายได้

 

related