svasdssvasds

ขั้วใหม่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” สมการการที่เป็นไปได้แต่อธิบายลำบาก

ขั้วใหม่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” สมการการที่เป็นไปได้แต่อธิบายลำบาก

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการ “ปูดข่าว”พรรคเพี่อไทยเตรียมจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะประเด็นนี้ เคยมีการนำเสนอผ่านสื่อมาก่อนหน้านี้แล้ว

แต่ปัญหาสำคัญ คือจุดยืนและอุดมการณ์ของทั้ง 2 พรรค แตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น กระทั่งกลายเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” ถึงขั้น “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ”ทีเดียว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยตอบคำถามสื่อในประเด็นนี้หลายครั้ง และคำตอบที่ได้ ล้วนไปในทิศทางความเป็นไปได้มีน้อยมาก แต่ไม่ถึงปิดประตูลงกลอนแน่นหนา เพราะมักมีข้อแม้สำคัญ ..ยกเว้นแต่พรรคเพื่อไทยจะปราศจากการแทรกแซงของคนแดนไกลอย่างเด่นชัด

ขณะที่แกนนำในพรรคเพื่อไทยหลายคน รวมทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี เพราะโทษรุนแรงถึงขั้น “ยุบพรรค”ได้ เห็นชัดจากความพยายามปฏิเสธความเกี่ยวพันระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร กับพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง นับตั้งแต่นายทักษิณไลฟ์สดและให้สัมภาษณ์ผ่านโลกโซเชียลในวันจัดเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ที่ร้านอีสานเขียว นครลอนดอน แสดงความมั่นใจพรรคจะชนะเลือกตั้งในภาคอีสาน ทั้งออกปากขับไล่อดีต ส.ส.ที่ต้องการย้ายออกไปจากพรรคเพื่อไทย

นำไปสู่การเรียกร้องให้กกต.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่าถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงพรรคหรือไม่ รวมทั้งกรณีบินไปที่ฮ่องกง แล้วเปิดโอกาสให้อดีต ส.ส.ของพรรคเข้าพบเพื่อหารือเรื่องหัวหน้าพรรคสำหรับนำธงสู้ศึกเลือกตั้ง เนื่องจากส่วนหนึ่งคัดค้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์

ความหวาดแระแวงอย่างจริงจังของแกนนำพรรคเพื่อไทยครั้งนั้น ปรากฏผลสะท้อนกลับ คือไม่มีภาพการพบปะหารือ หรือแม้แต่ภาพเซลฟี่กับนายทักษิณ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีการนำไปเผยแพร่จนเป็นเรื่องปกติ เพราะด้านหนึ่งคล้ายเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดในทีกับนายทักษิณโดยตรง

แม้ในช่วงหลังๆถัดมา นายทักษิณจะยังโพสต์ภาพหรือแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆเหมือนกับที่เคยทำในอดีต แต่มักจะหลีกเลี่ยงความคิดเห็นในเชิงการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย

ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของบางฝ่ายว่า จะมีนัยเกี่ยวเนื่องกับความพยายามดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าเป็นพันธมิตร ระหว่างช่วงการเลือกตั้งและภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

เพราะถึงแม้จะพยายามปูดข่าวตัวเลข 290-300 คน โดยอ้างผลจากการว่าจ้างบริษัททำสำรวจจากสหรัฐอเมริกาประเมินตัวเลขส.ส.ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรรวมกัน แต่ก็ยังเป็นเพียงตัวเลขลอยๆขาดหลักประกันชัดเจนว่าจะเป็นตัวเลขจริง อีกทั้งจำนวนดังกล่าว ก็สุ่มเสี่ยงที่จะแพ้โหวตในการเลือกนายกรัฐมนตรีก๊อกแรก ซึ่ง ส.ว. 250 คน สามารถจะร่วมโหวตลงคะแนนได้

ดังนั้น ทางเลือกเดียวที่จะเอาชนะฝ่ายสนับสนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ คือต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์มาอยู่ขั้วเดียวกันให้ได้ เพื่อสลายจาก “สามก๊ก” ให้เหลือเพียง “สองก๊ก” อย่างที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ พูดตรงกันมาตลอด

หากการเมืองยังเป็น “สามก๊ก” การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปไม่ได้เลย

เว้นแต่ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.รวมกันน้อยกว่า 250 เสียง ซึ่งหากเอาสถิติตลอดการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุดคือเลือกตั้ง 2544 / 2548 / 2550 และ 2554 มารวมกัน จะพบว่า 2 พรรคนี้ กวาดส.ส.รวมกันตั้งแต่ 376 เสียง(ปี 2544) ถึงสูงสุด 473 เสียง (ปี 2548)

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นอกจากประกาศพร้อมลาออกจากหัวหน้าพรรค หากได้จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคนแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังตอกย้ำจุดยืนทางการเมือง ทั้งการร่วมรัฐบาล  กรณีไม่ได้เสียงข้างมาก ต้องเป็นไปตามระบบรัฐสภา คือเปิดให้พรรคเสียงข้างมากได้รวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุน เงื่อนไขของพรรคปชป. เมื่อจะเป็นรัฐบาล  คือต้องทำงานตามอุดมการณ์ได้ ใครที่ยอมรับแนวทางนี้  ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคเพื่อไทย ต้องแสดงท่าทีออกมาก่อนเลือกตั้ง

ส่วนการเป็นฝ่ายค้าน ปชป.จะจับมือพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ นายอภิสิทธิ์ ยังไม่ได้ฟันธงชัดเจนเช่นกัน แต่ย้ำว่า การเป็นฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องจับมือร่วมกับใคร เพราะต่างพรรคต่างต้องทำหน้าที่

อย่างไรก็ดี มีการแง้มช่องเอาไว้ให้ไปตีความกันต่อด้วยประโยคที่ว่า  หากเราจับมือ(กับเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน)กันแล้ว รัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อยจะอยู่ได้หรือ? และต้องระวัง อาจจะเกิดกลุ่ม “งูเห่า 2”ขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นได้

คำพูดที่ยังกำกวมเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้านหนึ่งถูกตีความหมายว่า ยังพยายาม “แทงกั๊ก” เพราะยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ จะเข้าร่วมกับฝ่ายใด รวมถึงอดเป็นห่วงเรื่อง “งูเห่า” ภาคใหม่ไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถือเป็นแรงกดดันที่พุ่งเข้าใส่นายอภิสิทธิ์ได้เช่นกัน เพราะประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เคยต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ภายใต้การนำของ “บิ๊ก”ในกองทัพมาตลอด

หากถึงช่วงเวลาก้าวย่างสำคัญของประเทศชาติ การจะตัดสินใจหนุนขั้วสนับสนุน “บิ๊กตู่” จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการตัดสินใจในฐานะผู้นำพรรค

จึงไม่แปลก ที่จะมีการพูดถึงสมการใหม่ พรรคเพื่อไทย บวก พรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะตอบได้ทั้งโจทย์ “ตัดทอนการสืบทอดอำนาจ”ของ “บิ๊กทหาร”

และเป็นทางเดียวที่จะตอบโจทย์ “ลดความขัดแย้ง” ระหว่าง 2 ฝ่าย 2 ขั้วที่ยืดเยื้อมายาวนาน

แต่สมการนี้ จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการอธิบายและแจกแจงกับประชาชนผู้เทคะแนนเสียงให้

related