svasdssvasds

สึนามิการเมือง 24 มี.ค. พลิกผัน แต่ยังไม่เปลี่ยน

สึนามิการเมือง 24 มี.ค. พลิกผัน แต่ยังไม่เปลี่ยน

เป็น"สึนามิการเมือง" ของจริงที่คอการเมืองทั้งหลาย ไม่อาจปฏิเสธได้ กับผลเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ออกมา

พรรคพลังประชารัฐ ที่อาศัยความแรงและแอคชั่นในช่วงโค้งสุดท้ายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งสามารถเบียด"แชมป์เก่า" เพื่อไทย ขึ้นแท่นจ่อซิวเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2

ถือเป็นการเดินหมากที่แหลมคม สะท้อนให้เห็นถึงการเป็น “มืออาชีพ”ของแกนนำในพรรค ทั้ง “กลุ่มสายตรงบิ๊กตู่” และ “กลุ่มสามมิตร”กับพันธมิตรบ้านริมน้ำ ที่สามารถนำ “จุดขาย”สำคัญคือ “บิ๊กตู่”ไปช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในจังหวัดหลักๆ แม้จะเป็นเพียง “คลิปภาพและเสียง” ไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริงก็ตามที

แต่ประโยคเด็ด “จะก้าวไปกับผมไหม”ของพล.อ.ประยุทธ์ รวมกับการขึ้นเวทีปราศรัยวันสุดท้ายที่สนามเทพหัสดิน เมื่อ 22 มีนาคม บวกกับป้ายประชาสัมพันธ์หาเสียงชุดสุดท้าย “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มที่ยังลังเลสองจิตสองใจเทคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐ

พรรคอนาคตใหม่ ของ “ฟ้ารักพ่อ”นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่แรงไม่ตกตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง กวาดส.ส.เขตได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างที่หัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ล่วงหน้าอย่างเชื่อมั่น ว่าได้ส.ส.ระบบเขตแน่นอน รวมทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ชื่อชั้นของผู้สมัคร เป็นรองพรรคคู่แข่งใหญ่อีก 3 พรรคทั้งสิ้น

พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนสนับสนุนจากกลุ่ม “เฟิร์ส โหวตเตอร์” และกลุ่ม GEN Y ที่เป็นคนทำงานรุ่นใหม่ มีแนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ ที่พร้อมอกพร้อมใจออกไปเทคะแนนเสียงให้ รวมกับคะแนนเสียงจากกลุ่ม GEN อื่นที่หวังจะเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ ไม่ใช่การเมืองแบบคนหน้าเดิมๆ

กระแสดังกล่าว เมื่อบวกกับความนิยมในตัวของนายธนาธร ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “นักการเมืองหน้าใหม่” สอดแทรกเข้าไปคว้าเก้าอี้ส.ส.เขตได้อย่างเหลือเชื่อ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กับการโผล่ขึ้นมาแจ้งเกิดของพรรคพลังธรรม ที่มีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นจุดขาย ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535

คะแนนที่ส.ส.เขตพรรคอนาคตใหม่ได้รับ ยังส่งผลถึงส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอีกต่างหาก

สวนทางกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน แม้แต่ในพื้นที่ที่เคยยึดครองมายาวนาน ทั้งกรุงเทพฯและภาคใต้ ถึงขั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังจากเคร่งเครียดกันทั้งพรรค ตั้งแต่ปิดหีบเลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศจุดยืนในช่วงโค้งสุดท้าย ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่หนุน “บิ๊กตู่”เป็นนายกฯ ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนนิยมหล่นหายอย่างคิดไม่ถึง โดยเฉพาะการประกาศไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะแทนที่จะได้เสียงสนับสนุนจากคนในกลุ่มที่ชื่นชอบ ปชป.และหวังจะให้ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล กลับต้องสูญเสียคะแนนจากกลุ่มนี้ที่หันไปเทคะแนนให้ “บิ๊กตู่”

ประกอบกับการจุดกระแสเลือกข้าง ระหว่างขั้วหนุนพล.องประยุทธ์ กับขั้วไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ปชป.แทบไม่มีพื้นที่ยืนทางการเมือง ขณะที่ปัญหาขัดแย้งภายใน และการส่งสัญญาณ “งูเห่า”ในพรรคช่วงก่อนวันเลือกตั้งทำให้ความเชื่อมั่นในพรรคของประชาชนส่วนหนึ่งขาดหายไป

“แชมป์เก่า”อย่างเพื่อไทย แม้พยายามงัดกลเม็ดเด็ดพรายที่หลากหลายออกมาสู้ นับตั้งแต่ประกาศจุดยืนคนละขั้วละฝ่ายกับ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งการออกแคมเปญเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างขั้วเพื่อไทยกับพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟ่บ” หรือ “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” เพื่อหวังกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น แต่ผลที่ออกมา แม้จะยังได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม “แฟนคลับ”และแนวร่วมมวลชนคนเสื้อแดงดังเดิม แต่ไม่อาจดึงคะแนนจากกลุ่ม “พลังเงียบ” หรือกลุ่มที่ยังลังเลไม่รู้จะเลือกใครดี ซึ่งสุดท้าย กลุ่มนี้หันๆไปเทคะแนนให้ “บิ๊กตู่”

ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยยังมีภาพลักษณ์ของการเป็นพรรคการเมืองเครือข่ายของคนแดนไกล ที่จะถูก “ปลุกผี”ขึ้นมาใช้โจมตีในการหาเสียงไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังสามารถประคองตัวเองให้ยืนหยัดอยู่ได้มั่นคง ภายใต้กระแสการแข่งขันที่เข้มข้น ด้านหนึ่งคือประกาศไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และอีกด้านหนึ่ง มีแคมเปญหาเสียงที่โดนใจผู้คน โดยเฉพาะกัญชาไทยต้องปลูกได้เสรีบ้านละ 6 ต้น และนโยบายทำงานออฟฟิศ 4 วันและที่บ้านอีก 1 วัน

ผลเลือกตั้งที่ออกมา น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคภูมิใจไทย เพราะสายสัมพันธ์กับ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา ยุค “หนูนา”กัญจนา ศิลปอาชา ที่เน้นความเป็นพรรคเล็กที่เจียมเนื้อเจียมตัว และพรรคชาติพัฒนา ที่ครั้งนี้นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กระโดดลงมาช่วยลุยหาเสียง รวมทั้งเป็น “ตัวเชื่อม”สำคัญหลังการเลือกตั้ง

แต่ที่ดูจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคาดหวัง คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย หลังจากค่อนข้างชัดเจนว่า ทั้งที่สุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นสำคัญของตระกูล “เทือกสุบรรณ” และนราธิวาส ที่อุตส่าห์ได้อดีตส.ส.ปชป.ย้ายมาอยู่กับ รปช. ไม่สามารถแจ้งเกิดส.ส.เขตได้

ไม่แตกต่างจากพรรคประชาชาติ ของกลุ่มวาดะห์มากนัก เพราะผลเลือกตั้งที่ออกมา ดูจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อคู่แข่งสำคัญที่สามารถแย่งเก้าอี้ส.ส.จากปชป. “แชมป์เก่า”ไปได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังกลับเป็นพลังประชารัฐและภูมิใจไทยในบางพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น  ยังมีเรื่องต้องลุ้น ต้องสรุป และฟาดฟันกันต่อในสนามการเมืองอีกยาวนาน

related