svasdssvasds

DSI จับมือ กรมสรรพากร เช็กบิลเจ้าหนี้นอกระบบเลี่ยงภาษี

DSI จับมือ กรมสรรพากร เช็กบิลเจ้าหนี้นอกระบบเลี่ยงภาษี

DSI ร่วมมือกับกรมสรรพากร ตรวจเช็กภาษีของเจ้าหนี้นอกระบบ ในจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ พบมีการเลี่ยงภาษีกว่า 1,600 ล้านบาท DSI จึงดำเนินการแจ้งข้อหากับเจ้าหนี้เหล่านั้นฐาน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร

จากการที่รัฐบาลมีมาตรการดำเนินการอย่างจริงจับกับ เจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ลูกหนี้ ช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้มีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการปล่อยเงินกู้ของเจ้าหนี้ที่ใช้เงื่อนไขทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบประชาชน บังคับคดียึดที่ดิน ทำให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการอำนวยความเป็นธรรม การสนับสนุนข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดีของลูกหนี้ และการป้องกันโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้นอกระบบ

ทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ส.ค.) พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมความร่วมมือ ในการดำเนินมาตรการทางภาษีกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ในการผลักดันให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้ถูกต้อง กับ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อประสานขอข้อมูล ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ ของกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับปีภาษี 2550 – 2555

ซึ่งทางกรมสรรพากร ตรวจสอบแล้ว ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กองคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เรียกเจ้าหนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิกับพวก มารับทราบข้อหาในความผิดฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้จังหวัดชัยภูมิ มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา

DSI จับมือ กรมสรรพากร เช็กบิลเจ้าหนี้นอกระบบเลี่ยงภาษี

จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติมของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่าในช่วงปี 2556 - 2560 เจ้าหนี้รายนี้มีเงินนำฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 152 ล้านบาทเศษ แต่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้จำนวน 5 ล้านบาทเศษ ส่วนสามีมีเงินนำฝากจำนวน 114 ล้านบาทเศษ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้แต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุที่น่าสงสัยว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอส่งเอกสารเพื่อขอให้กรมสรรพากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวน 3 ราย จากการตรวจสอบ ระหว่างปี 2553 - 2559 พบว่าเจ้าหนี้รายที่ 1 มีการนำเงินมาฝากในบัญชีจำนวน 1,000 ล้านบาทเศษ แต่ยื่นแบบเงินได้ จำนวน 160 ล้านบาทเศษ ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 2 และภรรยา จากการตรวจสอบรายการเดินบัญชีระหว่างปี 2553 - 2559 พบว่ามีการนำเงินมาฝากในบัญชีดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 260 ล้านบาท เจ้าหนี้รายที่ 2 นี้

ยื่นแบบเงินได้ฯ ตามมาตรา 40(5) มาตรา 40(8) เป็นเงินจำนวน 12 ล้านบาทเศษ โดยไม่ได้ยื่นแบบแสดงเงินได้ฯ ตามมาตรา 40(4) แต่อย่างใด

จากการตรวจสอบ สำเนาโฉนดที่ดิน, น.ส.3, สำเนาหนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้อง พบว่าในระหว่างปี 2550 - 2559 เจ้าหนี้รายที่ 2 และภรรยา พร้อมบุตรอีก 3 คน ได้กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินมาเป็นของตนเองเป็นจำนวนกว่า 1,823 ไร่ ทั้งที่ภรรยาได้แจ้งในแบบ ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.94 ของสามีว่า ตนเองเป็นบุคคลผู้ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ส่วนบุตรทั้งสามคน ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการยื่นแบบแสดงเงินได้ฯ แต่อย่างใด เช่นกัน

ตามข้อมูลหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีเหตุที่น่าสงสัยว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ กับกลุ่มเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบดังกล่าว จึงขอส่งข้อมูลและหลักฐานมายังอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปทั้งนี้ ในส่วนประเด็นความผิดอื่น ๆ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการต่อไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก

related