svasdssvasds

อ่านแนวทาง "โดรนเพื่อการเกษตร" ที่ DES - depa ช่วยลดภาระเกษตรกร

อ่านแนวทาง "โดรนเพื่อการเกษตร" ที่ DES - depa ช่วยลดภาระเกษตรกร

กระทรวงดีอีและดีป้า เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เปิดศูนย์อบรม 5 แห่ง ซ่อมบำรุง 50 ศูนย์ ผลักดันการใช้งานใน 500 ชุมชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มีแนวทางในการมุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การนำโดรนเข้ามาส่งเสริมการเกษตรแก่ชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องของนำตัวเครื่องมาจำหน่าย แต่เป็นการผลักดันแบบครบวงจร ประกอบด้วย

  • 5 ศูนย์เรียนและสอบใบอนุญาตเพื่อบินโดรน 
  • 50 ศูนย์ซ่อมโดรนในแต่ละภูมิภาค
  • 500 ชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ

หากมีการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่รวมกัน ไม่น้อยกว่า 400 ล้านไร่ทั่วประเทศ สามารถบินโดรนเพื่อการเกษตรได้ครบ 4,000 ไร่ เกษตรกรจะไม่ต้องเสียค่าเช่าเครื่อง แต่ถ้าไม่ครบก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอยู่ที่ 40% ซึ่งสามารถเข้าโครงการกู้ยืมกับทางหน่วยงานรัฐได้  

ตัวอย่างโดรนเพื่อการเกษตร

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ด้านการเกษตร ช่วยสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศตามแผนงาน The Growth Engine of Thailand ของ รมว.ดีอี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

เนื่องจากการใช้ยาฆ่าแมลงพ่นในแปลงเกษตร 1 ไร่ โดยปกติใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 นาที แต่ถ้าใช้โดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาช่วยจะใช้เวลาในการพ่นประมาณ 3 นาที ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายและชุมชนที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการมีคนเข้าร่วมโครงการหลายร้อยคนแล้ว

ทางดีอีและดีป้า ยังคาดหวังว่าการนำโดรนเข้าไปสู่การเกษตร นอกจากจะช่วยเรื่องของลดระยะเวลาในการดูแลแล้ว ยังเกิดอาชีพใหม่ อย่างเช่นการซ่อมบำรุง ดูแลรักษา ไปจนถึงอาชีพรับจ้างขับโดรนเพื่อใช้ในด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ภายในชุมชนได้ด้วย

ดีอีและดีป้า และพาร์ทเนอร์ด้านการบิน

สำหรับคนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถรวมกลุ่มกัน และส่งตัวแทนมาเป็นผู้เข้าร่วมฝึกขับโดรน สามารถส่งสมาชิกเพื่อเข้ามาเรียนรู้ทักษะการใช้งาน ซ่อมบำรุง และขอรับใบอนุญาตการบินได้ 2 คน

ส่วนในเรื่องของใบอนุญาตการบินโดรนนั้น หลังการอบรมจะมีการจัดสอบคล้ายใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หากผ่านเกณฑ์คะแนนก็จะได้รับใบอนุญาตการบินเพื่อใช้ไปประกอบการขออนุญาตขึ้นบินโดรนได้

ทั้งนี้ การสมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมีเงื่อนไขดังนี้

  • ใบสมัครเข้าร่วมโครงการ
  • เอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มชุมชน/หนังสือการจดทะเบียนชุมชนตามกฎหมายเฉพาะ/หนังสือรับรองโดยหน่วยงานราชการ
  • เอกสารแสดงรายชื่อสมาชิก
  • สมาชิกกลุ่มไม่ต่ำกว่า 20 ครัวเรือน

ทั้งนี้ โดรนเพื่อการเกษตรที่เข้าร่วมในโครงการมาจากสตาร์ตอัปสัญชาติไทย ส่วนราคาของโดรนโดยเฉลี่ยยังอยู่ในหลัก 1-2 แสนต่อเครื่อง ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีค่าบริการในการเช่าใช้เครื่องที่แตกต่างกัน รวมทั้งรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน

 

ภาพ : SPRiNG Photo

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related