svasdssvasds

"Hyperloop" การขนส่งแห่งอนาคต อีก 6 ปีอาจได้เห็นเส้นทางแรกในเนเธอร์แลนด์

"Hyperloop" การขนส่งแห่งอนาคต อีก 6 ปีอาจได้เห็นเส้นทางแรกในเนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ยังหวังพัฒนา เทคโนโลยีระบบการขนส่งผ่านท่อสุญญากาศด้วยความเร็วสูง หรือ Hyper Loop ความหวังในการขนส่งโลกอนาคต ฝันอีก 6 ปี เปิดเส้นทางแรก ยาว 5 กม.

SHORT CUT

  • แม้ Hyperloop One ของอีลอน มัสก์จะปิดตัวลง ทำให้หลายคนมองว่าเทคโนโลยีระบบขนส่งผ่านท่อสุญญากาศความเร็วสูงจะไม่มีอนาคต แต่องค์กรในเนเธอร์แลนด์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบนี้ต่อไป
  • European Hyperloop Center (EHC) เปิดศูนย์ทดสอบท่อ Hyperloop ความยาว 420 เมตร มีเป้าหมายเปิดเส้นทางแรกยาว 5 กม. ในปี 2030 
  • โครงการนี้ยังมีความท้าทายในด้านเงินทุน และความคุ้มค่าในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งอาจประสบชะตากรรมเดียวกับโครงการของอีลอน มัสก์

เนเธอร์แลนด์ยังหวังพัฒนา เทคโนโลยีระบบการขนส่งผ่านท่อสุญญากาศด้วยความเร็วสูง หรือ Hyper Loop ความหวังในการขนส่งโลกอนาคต ฝันอีก 6 ปี เปิดเส้นทางแรก ยาว 5 กม.

หลังจาก Hyper Loop One ของอีลอน มัสก์ ปิดตัวลง ทำให้หลายฝ่ายมองว่า เทคโนโลยีระบบการขนส่งผ่านท่อสุญญากาศด้วยความเร็วสูงนี้จะหมดอนาคต จากต้นทุนที่สูงเกินไป แต่องค์กรในเนเธอแลนด์ยังมุ่งมั่นพัฒนาระบบนี้ต่อ ฝันอีก 6 ปี เปิดเส้นทางแรก ยาว 5 กม.

Hyperloop ครั้งหนึ่งเคยสร้างความฮือฮาว่าจะเป็นความหวังในการขนส่งโลกอนาคตโดย อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแคปซูลที่ลอยอยู่เหนือสนามแม่เหล็ก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (435 ไมล์ต่อชั่วโมง) ผ่านท่อแรงดันต่ำ ซึ่งผู้สนับสนุนเทคโนโลยีนี้ อ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเที่ยวบินระยะสั้น รถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถบรรทุกสินค้า

แต่ความทะเยอทะยานของ มัสก์ ซึ่งมีแนวคิดที่จะสร้างระบบที่สามารถรับส่งผู้โดยสารได้เกือบ 400 ไมล์ (645 กิโลเมตร) ระหว่างลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโกภายใน 30 นาที  กลับไม่สำเร็จในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้หลายคนมองว่า เทคโนโลยีนี้ อาจไม่ได้ไปต่อ เพราะแม้แต่มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกยังถอดใจ

"Hyperloop" การขนส่งแห่งอนาคต อีก 6 ปีอาจได้เห็นเส้นทางแรกในเนเธอร์แลนด์

ทำไมเราถึงมีความหวัง "Hyperloop" อีกครั้ง

ท่อเหล็กสีขาวความยาว 420 เมตร (1/4 ไมล์) ที่วิ่งเลียบทางรถไฟทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ อาจแสดงให้เห็นว่ายุคใหม่ในการขนส่งคนและสินค้ายังไม่ปิดประตูตายเสียทีเดียว

ท่อดังกล่าวเป็นของ European Hyperloop Center (EHC) ที่เพิ่งเปิดทดลอง และจะเป็นพื้นที่สำหรับนักพัฒนาเทคโนโลยีที่จะพิสูจน์ความท้าทายนี้ต่อไป

ท่อของศูนย์ทดสอบประกอบด้วย 34 ส่วนแยกกัน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2½ เมตร (มากกว่า 8 ฟุต) ปั๊มสุญญากาศจะดูดอากาศออกเพื่อลดแรงดันภายใน ซึ่งช่วยให้แคปซูลเดินทางด้วยความเร็วสูงได้ โดยคุณลักษณะเฉพาะของ EHC คือมีสวิตช์ โดยจะแยกออกเป็นสองท่อแยกกัน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการสลับเลนมีความสำคัญมากสำหรับไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) เนื่องจากจะช่วยให้สามารถเดินทางจากต้นทางไปยังปลายทางใดก็ได้  ทำให้ยานสามารถเข้าออกหรือเปลี่ยนเลนเพื่อไปยังส่วนอื่นของยุโรปหรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่น

ซาสชา แลมม์ ผู้อำนวยการศูนย์ EHC คาดว่าภายในปี 2030 จะมีเส้นทางไฮเปอร์ลูปสายแรก ซึ่งอาจจะมีระยะทางห้ากิโลเมตร (3 ไมล์) ซึ่งจะใช้รับส่งผู้โดยสารจริงๆ

"Hyperloop" การขนส่งแห่งอนาคต อีก 6 ปีอาจได้เห็นเส้นทางแรกในเนเธอร์แลนด์

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของข้อผูกพันของรัฐบาลในการสร้างเส้นทาง และการหาเงินทุนใหม่เพื่อทดสอบที่และพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ออกมาวิจารณ์ว่า โครงการนี้ก็อาจยากที่จะประสบความสำเร็จอีก เนื่องจากปัญหาเรื่องของการหาเงินทุน ที่อาจจะไม่คุ้มค่าสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งอาจหาลูกค้าใหม่ไม่ได้ ซ้ำรอยกับโครงการของ อีลอน มัสก์ ไปอีกราย

รู้จัก European Hyperloop Center (EHC)

European Hyperloop Center เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีโครงสร้างเป็นมูลนิธิ ตั้งอยู่ในเมือง Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเร่งการพัฒนา Hyperloop ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนระหว่างกระทรวงเศรษฐศาสตร์และสภาพภูมิอากาศและโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ จังหวัด Groningen และกลุ่มภาคีอุตสาหกรรมและสถาบันความรู้และการวิจัยที่อุทิศตนเพื่อการพัฒนาการขนส่งแบบไฮเปอร์ลูป ผ่านการได้รับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป