svasdssvasds

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ? และบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ? และบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แต่แม็คโครกลับเติบโตอย่างสวนกระแสวิกฤต เทียบระหว่างไตรมาสที่ 1 ปีนี้กับปีก่อน รายได้เพิ่มขึ้น 8.8 %

วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งกระทบไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้หลายภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก และส่อแววถึงขั้นล่มสลาย หากสถานการณ์ยังคงลากยาวออกไปเรื่อยๆ

แต่สำหรับแม็คโคร ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 (มกราคม - มีนาคม) ของปี 2563 กลับเติบโตอย่างสวนกระแส โดยสปริงนิวส์ขอเรียบเรียงให้ภาพที่ชัดเจน ดังนี้

ยอดขาย ไตรมาสที่ 1 ระหว่างปี 2562 กับ 2563

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 แม็คโครมียอดขาย 50,682 ล้านบาท แต่ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ที่ผู้รู้หลายคนมองว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เพราะกำลังซื้อในตลาดหายไปเป็นจำนวนมหาศาล

แต่แม็คโครกลับมียอดขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 สูงถึง 55,159 ล้านบาท หรือโตขึ้น 8.8 % จากช่วงเวลาเดียวกัน

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ? และบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?

กำไร ไตรมาสที่ 1 ระหว่างปี 2562 กับ 2563

และหากโฟกัสที่กำไรสุทธิ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 แม็คโครมีกำไรอยู่ที่ 1,519 ล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ทำกำไร 1,681 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 18.4 % (ในไตรมาสเดียวกัน)

และแม้ว่าในส่วนของกำไรนั้น ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะน้อยกว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 (ตุลาคม - ธันวาคม) เป็นจำนวน 378 ล้านบาท แต่ในสถานการณ์เยี่ยงนี้ ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สวยสดงดงามแล้วแหละ

จากธุรกิจสัญชาติเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นหนึ่งในเครือซีพี

รูปแบบธุรกิจของแม็คโคร ถือว่าเป็นขวัญใจของเจ้าของร้านโชห่วยเลยทีเดียว โดยเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่งในระบบสมาชิก ที่มีสาขากว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ

โดยเริ่มเปิดกิจการในไทย เมื่อปี 2532 เดิมทีเป็นธุรกิจในกลุ่มเอสเอชวีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่ ซีพี หรือ เจริญโภคภัณฑ์ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จะทุ่มเงินมหาศาลว่า 1.88 แสนล้านบาท เทคโอเวอร์แม็คโครเข้ามาเป็นธุรกิจในเครือ เมื่อปี 2556

ซื้อแม็คโคร ก็เหมือนซื้อเครื่องพิมพ์แบงก์

แม้หลายคนจะเข้าใจความจำเป็นของซีพีที่ต้องเอาแม็คโครเข้ามาอยู่ในอ้อมกอด เพราะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ อีกทั้งยังช่วยต่อยอดธุรกิจด้านค้าส่งและค้าปลีกได้ในอนาคต

แต่กูรูหลายคนก็มองว่า เป็นเม็ดเงินที่สูงเกินไป สวนทางกับแนวคิดของเจ้าสัวธนินท์ ที่เปรียบแม็คโครเสมือนเครื่องพิมพ์แบงก์ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“ซื้อแพงวันนี้ จะกลายเป็นราคาถูกในวันหน้า วันนี้ดูเหมือนซื้อแพง แต่จริงๆ มันถูก ก็เหมือนเราซื้อเครื่องพิมพ์แบงก์ของเยอรมัน ของดีก็ต้องแพง แต่มันพิมพ์แบงก์ได้เร็ว”

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ? และบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?

แม็คโคร ในมือซีพี

ปัจจุบัน สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือซีพี ถือหุ้นในแม็คโคร 55.01% กับซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือซีพี เช่นกัน ถือหุ้นอยู่ 38.07 % เท่ากับซีพีถือหุ้นทั้งหมดในแม็คโครอยู่ที่ 93.08 %

และแม้แม็คโครจะกลายเป็นบริษัทในเครือซีพี ที่มีเซเว่น-อีเวฟเว่น เป็นหัวหอกสำคัญในด้านธุรกิจค้าปลีก แต่แม็คโครก็ยังคงรักษาคอนเซ็ปต์เป็นมิตรกับโชห่วย ผ่านสโลแกน “คู่คิดธุรกิจคุณ” จนกลายเป็นจุดขายและจุดแข็ง ที่ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ?

แม้เม็ดเงินในส่วน “แม็คโครฟู้ดเซอร์วิส” ที่ส่งสินค้าให้กับภาคธุรกิจโรงแรม ร่วมถึงร้านอาหาร จะหายไปไม่ใช่น้อยในช่วงโควิด-19 และอาจลดลงเรื่อยๆ หากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว

แต่สัดส่วนการทำเงินจากธุรกิจหลักของบริษัท นั่นก็คือการค้าส่ง ยังคงแข็งแกร่ง ชนิดสวนทางกับกำลังซื้อในท้องตลาด ที่สะท้อนให้เห็นว่า สินค้าประเภทอุปโภคบริโภค สามารถทำเงินได้ตลอดเวลา แม้ในช่วงวิกฤตก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล ที่กระทบกระเทือนวงการธุรกิจต่างๆ แต่บางนโยบายกลับเข้าทางธุรกิจของแม็คโคร

โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่มีการประกาศปิดชั่วคราวห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต) และสถานที่ประกอบการธุรกิจต่างๆ ก่อให้เกิดกระแสหวั่นเกรงว่า จะมีผู้ซื้อสินค้าไปกักตุนจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังซื้อเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล ยอดขายของธุรกิจทั้งค้าส่งและค้าปลีก เติบโตขึ้นอย่างสวนวิกฤต

นอกจากนั้นแม็คโครยังมีการทำตลาดขายสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบออนไลน์ makroclick.com ที่ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ก็เป็นอีกช่องทางในการจำหน่าย ซึ่งคาดว่าน่าจะทำเงินจากส่วนนี้ ได้ไม่ใช้น้อยๆ เช่นกัน

"แม็คโคร" ทำไมโตสวนวิกฤต ? และบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?

การโตแบบสวนวิกฤตของแม็คโคร บอกอะไรกับเรา ?

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่า นับจากนี้ โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ธุรกิจที่เป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาใช้บริการจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรมและการท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการที่ผู้คนไม่นิยมออกนอกบ้านไปร่วมกลุ่มสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน

แต่ว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

จริงอยู่ว่า ในช่วงเวลาการแพร่ระบาด ทั้งความตื่นกลัวของประชาชน นโยบายล็อกดาวน์จากภาครัฐ จะกระทบธุรกิจที่มุ่งขายประสบการณ์ตรงในโลกแห่งความเป็นจริง

การอยู่รอดให้ได้ในช่วงนี้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนและปรับต้วไปตามสถานการณ์ ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal ที่ต้องหลีกเลี่ยงการพบเจอหรือทำกิจกรรมร่วมกัน

ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ต้องเป็นเช่นนั้น ก็เนื่องจากความจำเป็น แต่ถ้ามนุษย์เลือกได้ล่ะ

สมมติว่า หลังจากนี้อีก 1 ปี โลกสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ การรวมกลุ่มทำกิจกรรม หรือไปในสถานที่ที่ผู้คนเยอะๆ การท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไปแล้ว

ตรงกันข้าม ช่วงเวลา 1 ปี ที่โรคแพร่ระบาด ทำให้ทุกคนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเต็มที่ ความรู้สึกโหยหาการดูหนังในโรงภาพยนตร์ การชมคอนเสิร์ต ได้เห็นนักร้องที่ตัวเองชื่นชอบ การท่องเที่ยวไปในสถานที่แปลกใหม่ การเดินเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจขายประสบการณ์ตรงที่มีมนตร์เสน่ห์ ก็อาจกลับมาบูมอีกครั้งก็เป็นได้

เพราะในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ ถ้าเลือกได้คงไม่อยากอยู่ตามลำพัง ที่เป็นเช่นนั้น ก็อาจเพราะว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” นั่นเอง

 

อ้างอิง

รายชื่อผู้ถือหุ้นสูงสุดของแม็คโคร

สองเซียน ดร.นิเวศน์-อนุรักษ์"วิพากษ์ดีล CPALL ฮุบ MAKRO

แม็คโครโชว์แกร่ง รายได้ไตรมาส 1/2563 แตะ 56,000 ลบ.

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay

ภาพโดย Peggy CCI จาก Pixabay

related