svasdssvasds

ทำความเข้าใจแผนฟื้นฟู ชัดๆ ! "การบินไทย" ไม่ได้ล้มละลาย แต่เลือกเส้นทางกอบกู้กิจการ

ทำความเข้าใจแผนฟื้นฟู ชัดๆ ! "การบินไทย" ไม่ได้ล้มละลาย แต่เลือกเส้นทางกอบกู้กิจการ

ไขข้อสงสัย ทำไมการบินไทย ยื่นแผนฟื้นฟู กับศาลล้มละลาย รวมถึงเส้นทางที่เลือกบินนี้ มีข้อดีอย่างไร ?

หลังจากอึมครึมกันมาพักใหญ่ ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปแล้วในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในที่ประชุม เห็นชอบให้การบินไทย ยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลายกลาง โดยจะเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พฤษภาคม (อ่านข่าว :‘บิ๊กตู่’ เผย คนร.เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย เตรียมส่งเข้า ครม.พิจารณาในวันพรุ่งนี้)

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับทางออกหรือทางรอด กระทั่งเมื่อ คนร. มีมติออกมา แม้ยังไม่เข้าที่ประชุม ครม. แต่ก็เห็นเส้นทางที่การบินไทยเลือกบินได้อย่างชัดเจน

แต่หลายคนก็อาจสงสัยว่า ทำไมการบินไทยถึงเลือกเส้นทางนี้ ? แล้วการยื่นแผนฟื้นฟูนั้น มีข้อดีกับการบินไทยอย่างไร สปริงนิวส์ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลาย ไม่ได้หมายความว่า ล้มละลาย

เมื่อเห็นชื่อศาลล้มละลาย หลายคนอาจเข้าใจว่า การบินไทยกำลังล้มละลาย แต่อันที่จริงแล้ว การยื่นแผนฟื้นฟู คือกระบวนการในการกอบกู้กิจการนั่นเอง

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้อธิบายว่า การล้มละลาย หมายถึงการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนำไปสู่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

ซึ่งการยื่นล้มละลาย เจ้าหนี้อาจจะเป็นผู้ยื่นฟ้อง หรือในกรณีที่ไปต่อไม่ไหวจริงๆ ลูกหนี้ก็อาจยื่นขอล้มละลายเองก็ได้

หลังจากศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ก็ต้องรวบรวมทรัพย์สินที่มีอยู่นำไปขาย เพื่อนำเงินมามอบให้กับเจ้าหนี้ทุกรายตามสัดส่วนการกู้ยืม แต่ถ้าเป็นแนวทางนี้ จะไม่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

ฉะนั้นการที่การบินไทยมีการจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อยื่นกับศาลล้มละลายกลาง จึงไม่ได้หมายความว่าล้มละลายแต่อย่างใด

ทำความเข้าใจแผนฟื้นฟู ชัดๆ ! "การบินไทย" ไม่ได้ล้มละลาย แต่เลือกเส้นทางกอบกู้กิจการ

กิจการที่สามารถยื่นแผนฟื้นฟูได้

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อธิบายว่า แม้การจัดทำแผนฟื้นฟู จะเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายล้มละลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ล้มละลาย แต่เป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด

และแม้ว่าการจัดทำแผนฟื้นฟู คือแนวทางที่อาจทำให้กิจการไปต่อได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกิจการที่ประสบปัญหา จะสามารถยื่นแผนฟื้นฟูได้

ซึ่งกิจการที่เข้าข่ายสามารถยื่นแผนฟื้นฟูได้นั้น หลักๆ เลยคือ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (มีหนี้สิน มากกว่าทรัพย์สิน) ตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ทั้งกับเจ้าหนี้รายเดียว หรือเจ้าหนี้หลายราย

ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการ และยังไม่มีคำสั่งจากศาลให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จากกรณีที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย รวมถึงยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคล

ดังนั้นการยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลายกลาง จึงเป็นทางรอดที่หลายบริษัทที่ประสบวิกฤตด้านหนี้สิน เลือกดำเนินการ

ข้อดีของการยื่นแผนฟื้นฟู

เมื่อยื่นแผนฟื้นฟู หากศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา ก็จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “พักชำระหนี้” โดยอัตโนมัติ

ลำดับต่อไป ถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ กระบวนการฟื้นฟูก็จะเดินหน้าทันที

แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้ลงตัวแบบเป๊ะๆ รวมถึงการบินไทยก็มีเจ้าหนี้หลายราย หากบรรดาเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอมา ก็อาจมีการคัดค้าน ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่ตั้งผู้ทำแผน

ทำความเข้าใจแผนฟื้นฟู ชัดๆ ! "การบินไทย" ไม่ได้ล้มละลาย แต่เลือกเส้นทางกอบกู้กิจการ

การตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู

เมื่อเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ก็จะนำไปสู่กระบวนการเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะเรียกประชุมบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อเลือกผู้ทำแผน ด้วยการออกเสียงลงคะแนน โดยใช้เสียงข้างมากของเจ้าหนี้เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะมีคำสั่งจากศาลตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้ และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

การจัดทำแผน

การจัดทำแผน ต้องแล้วเสร็จในระยะเวลา 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน รวมเบ็ดเสร็จแล้ว กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่เกิน 5 เดือน

โดยแผนดังกล่าว จะต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลางก่อน จึงจะสามารถบริหารแผนต่อไปได้ โดยมีระยะเวลากำหนดไว้ในแผน ไม่เกิน 5 ปี

ทำความเข้าใจแผนฟื้นฟู ชัดๆ ! "การบินไทย" ไม่ได้ล้มละลาย แต่เลือกเส้นทางกอบกู้กิจการ

ข้างต้นก็คือรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟู แต่ในเส้นทางการบินนี้ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. ในวันที่ 19 พฤษภาคม ก่อน จึงจะสามารถยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลายได้

และยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย ไฮไลท์สำคัญก็อยู่ที่ว่า ศาลล้มละลาย จะรับคำร้องหรือไม่ และเมื่อรับคำร้องแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ ผู้ทำแผน หรือบริหารแผน จะเป็นบุคคลที่การบินไทยเสนอ หรือเป็นบุคคลที่บรรดาเจ้าหนี้เห็นชอบ ซึ่งเป็นอีกช็อตเด็ดในระดับที่ห้ามกระพริบตา

รวมถึงการจัดทำแผน และการที่ต้องดำเนินการตามกรอบระยะเวลา 5 ปี ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า เส้นทางที่เลือกบินนี้ จะสามารถกอบกู้การบินไทยให้พ้นหลุมอากาศแห่งวิกฤต และกลับมาผงาดได้อีกครั้งหรือไม่ ? 

อ้างอิง

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ

การฟื้นฟูกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย

ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

 

related