svasdssvasds

เจ้าจำปี โร่แจง แม้บริษัทพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สวัสดิการพนักงานยังอยู่

เจ้าจำปี โร่แจง แม้บริษัทพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สวัสดิการพนักงานยังอยู่

บินไทย ชี้แจงบริษัทพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สวัสดิการพนักงานยังอยู่ ส่วนการลดเงินเดือนเป็นแบบสมัครใจ ไม่ขัดกฎหมายแรงงาน

การบินไทย ตามที่มีสื่อหลายฉบับลงข่าวเกี่ยวกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ไปยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการที่บริษัทฯ ออกข้อบังคับฉบับใหม่ และอ้างว่าข้อบังคับดังกล่าวได้ลดทอนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพนักงาน รวมถึงได้ร้องเรียนเรื่องการปรับลดเงินเดือนของพนักงานว่าไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายนั้น

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ชี้แจงว่า

ตามที่ บริษัทฯ ได้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และมีสถานะเป็นบริษัทเอกชน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานของบริษัทเอกชนหลายฉบับ รวมทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดให้บริษัทฯ ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานเกี่ยวกับการจ้างงาน และประกาศใช้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่บริษัทฯ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับดังกล่าว บริษัทฯ ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างใกล้ชิด และบริษัทฯ ทราบดีว่า สิทธิประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่ก่อนการพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ จะยังมีอยู่ตามเดิมจนกว่าบริษัทฯ และพนักงานจะได้ดำเนินกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามวิธีการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

ส่วนกรณีที่บริษัทฯ ออกประกาศที่ 046/2563 เรื่อง ขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนสมัครใจปรับลดเงินเดือนลงในอัตราร้อยละ 10 - 50 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อขอความยินยอมจากพนักงานทุกคน ให้ลดเงินเดือนลงบางส่วนด้วยความสมัครใจ ในสภาวะที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหยุดทำการบินเป็นการชั่วคราว (จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563)

โดยให้พนักงานลงชื่อแสดงเจตนารมณ์ช่วยเหลือบริษัทฯ และยินยอมให้บริษัทฯ ลดเงินเดือนด้วยความสมัครใจของพนักงานเอง แต่ในส่วนของพนักงานที่ไม่ได้ให้ความยินยอมให้ลดเงินเดือนนั้น บริษัทฯ จะยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตราที่พนักงานคนนั้นได้รับ โดยจะไม่หักค่าจ้างตามประกาศบริษัทฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้ง 2 กรณี ของบริษัทฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายแรงงานแต่อย่างใด และบริษัทฯ ยังได้ดำเนินการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของพนักงานที่พึงได้รับตามขอบเขตของกฎหมาย

related