svasdssvasds

จุรินทร์ เปิดทำเนียบ 8 กค. นัดถก PETA กล่าวหาไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว

จุรินทร์ เปิดทำเนียบ 8 กค. นัดถก PETA กล่าวหาไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว

จุรินทร์ แจงไม่ใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวในภาคอุตฯ เตรียมหารือผู้ผลิตกะทิและผู้ผลิตแปรรูป 8ก.ค.นี้ และเชิญทูต EU มาดูกระบวนการเก็บมะพร้าวและการผลิต

ลิงเก็บมะพร้าว จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ องค์กรพิทักษ์สัตว์ ‘People of the Ethical Treatment of Animals’ หรือ PETA รายงานว่ามีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ร่วมแบนกะทิกล่องและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากมะพร้าวที่นำเข้าจากประเทศไทย

หลังจากมีการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ซึ่งถือเป็นการทรมานสัตว์ ในอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวที่ส่งออกจากไทย ว่า การใช้แรงงานลิงเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน และเคยมีประเด็นก่อนหน้านี้มาแล้ว ซึ่งได้หารือกับผู้ประกอบการ พบว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวมากกว่า และอาจมีภาพไปปรากฎในคลิป ส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่มีปรากฎว่ามีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวแล้วซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีใช้ทั้งคนและเครื่องมือในการเก็บมะพร้าว

ทั้งนี้ในวันที่ 8 ก.ค.จึงได้เชิญผู้ผลิตกะทิและผู้ผลิตแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าวมาหารือกัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้หาแนวทางร่วมกันในการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้า ที่ยังสงสัยอยู่รวมทั้งในองค์การพิทักษ์สัตว์ที่ต้องการข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่ามาจากประชาสัมพันธ์ที่แจ้งทำความเข้าใจร่วมกันในรูปแบบไหนอย่างไร

จากนั้นจะมีการเชิญทูตโซนยุโรปที่ประจำอยู่ในประเทศไทย และยังมีข้อสงสัย ไปดูกระบวนการผลิตมะพร้าว และการเก็บมะพร้าวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อน และเพื่อต้องการที่จะคงตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยในตลาดต่างๆในโลกไว้

นายจุรินทร์ ยังบอกถึงการไปตรวจเยี่ยมซุปเปอร์มาร์เก็ตในแถบยุโรป พบว่า กะทิไทยและ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวเป็นที่นิยม อย่างในประเทศอังกฤษตามร้านอาหารและโรงแรมที่เป็นของชาวเอเชีย 70% ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่30%ที่เป็นของชาวยุโรปจะได้รับผลกระทบ ซึ่งในประเทศอังกฤษ มูลค่าการส่งออกของไทยประมาณ 1,000 ล้านบาท

ส่วนจะกระทบกับการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น มองว่า การท่องเที่ยวมีทั้งในเชิงวัฒนธรรมและระบบนิเวศ การนำลิงมาถือเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตในอดีต ที่จะต้องมีการฝึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่อะไรที่เป็นภาคอุตสาหกรรม จะต้องแยกส่วน อะไรที่ไม่เข้าใจในภาคการค้าก็ต้องชี้แจงกันไป

สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวในประเทศไทย มีผลผลิตในปี 2562 ประมาณ 788,000 ตัน และมีโรงงานแปรรูป 15 โรงงาน ทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตัน ซึ่ง 70%บริโภคในประเทศ ที่เหลือคือการส่งออก และยังมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อการส่งออกเพิ่มเติมด้วย และการส่งออกจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวมี 2 ชนิด คือ กะทิ กับมะพร้าวอ่อน แต่ที่เป็นประเด็นคือ กะทิที่มียอดส่งออก 12,300ล้านบาท แบ่งส่งออกไปยุโรป 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาท คือ อังกฤษ 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท

related