svasdssvasds

ศาลฎีกาสั่งอาร์เอสชดใช้ "แพนเค้ก" 1ล้านละเมิดพูดโฆษณาไม่รับอนุญาต

ศาลฎีกาสั่งอาร์เอสชดใช้ "แพนเค้ก" 1ล้านละเมิดพูดโฆษณาไม่รับอนุญาต

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก อายุ 30 ปี ดาราสาวชื่อดัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทอาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท โดย เมื่อต้นปี 2558 ได้มีการจัดงานกิจกรรมสันทนาการบันเทิง หรืองานอีเวนต์ในสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับเชิญจากเจ้าของงานอีเวนต์ไปปรากฏตัวในงานเช่นเดียวกับดารานักแสดงอื่นๆ งานดังกล่าวมีช่างภาพ ผู้สื่อข่าว สื่อมวลชนแขนงต่างๆ สายบันเทิงไปร่วมรายงานข่าวและบันทึกภาพจำนวนมาก โดยปกติในทางปฏิบัติ ก็จะมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์และนำภาพข่าวนั้นไปเสนอในสถานีคลื่นความถี่ของแต่ละคนไม่เกินครั้งสองครั้ง แต่จำเลยได้ให้ผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์โจทก์ และให้พูดว่า "ใครๆ ก็ดูช่อง 8" เพื่อนำไปออกข่าวบันเทิง โจทก์ก็ให้สัมภาษณ์โดยมีภาพโจทก์พูดข้อความดังกล่าว จากนั้นประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. 2558 ได้มีการนำภาพและข้อความว่า “ใครๆ ก็ดูช่อง 8” ไปออกอากาศและผ่านทางช่องทางยูทูบหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่โจทก์เป็นดารานักแสดงในสังกัดช่อง 7 สี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน จำนวน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 26 พ.ค. 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 26 พ.ค. 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จากนั้นจำเลยยื่นฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า การนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ แต่พยานจำเลยที่เป็นผู้สื่อข่าวและเข้าสัมภาษณ์โจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันถึงเรื่องนี้ ซึ่งเบิกความเพียงว่าโจทก์ยินยอมให้บันทึกภาพและเสียงพูดของโจทก์เท่านั้น ถ้ายินยอมเพียงเท่านี้ จะไปถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นไม่ได้ ถ้าโจทก์นำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้วจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ให้ผู้อื่น

อีกทั้งขณะสัมภาษณ์โจทก์ ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากเหตุดังกล่าวที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่ได้ยินยอมให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ โดยน่าเชื่อตามที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ยินยอมเพียงให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปออกรายการข่าวบันเทิงรายวันเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ติดต่อกันนานนับเดือนโดยไม่มีการโต้แย้งคัดค้าน และทันทีที่โจทก์โต้แย้งจำเลยก็หยุดโฆษณาประชาสัมพันธ์ทันทีในเดือน มี.ค. 2558 จึงถือว่าในช่วงที่โจทก์ยังไม่โต้แย้ง โจทก์ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว จำเลยฎีกาเช่นนี้ไม่ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โจทก์จึงไม่ทราบเรื่องและไม่ได้โต้แย้ง

และการที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็น่าจะปฏิเสธไม่พูดเช่นนั้น การที่โจทก์พูดถือว่าโจทก์ยินยอมให้นำไปโฆษณาแล้ว เห็นว่าการจำเลยนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนเป็นผลทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และสื่อมวลชนเข้าใจผิดคิดว่าโจทก์ผิดสัญญา โดยจะย้ายไปอยู่ในสังกัดสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่อโจทก์เป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่าการย้ายสังกัดของนักแสดงเป็นเรื่องปกติไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำสืบให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยจะได้ประโยชน์จากคำพูดของโจทก์มากน้อยเพียงใด ในทำนองว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จำเลยจะฎีกาเช่นนี้ไม่ได้

ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และแม้ศิลปินและดารานักร้องคนอื่นก็พูดเช่นเดียวกับโจทก์อย่างที่จำเลยฎีกา ก็เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้เป็นเครื่องชี้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง อีกทั้งเมื่อผู้จัดการส่วนตัวเบิกความว่า ในการรับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ โจทก์จะคิดค่าจ้างรายละ 1,000,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายต่อชื่อเสียงให้โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท เห็นว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว พิพากษายืน.

related