svasdssvasds

จับตา ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ กลางสภา ?

จับตา ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ กลางสภา ?

เงื่อนไขสำคัญในการเปลี่ยนม้ากลางศึก ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็อยู่ที่พรรคตัวแปรสำคัญ อย่างภูมิใจไทย กับประชาธิปัตย์ แต่แล้วช่วงโอกาสทองในการบดขยี้รัฐบาลตามกลไกรัฐสภา ก็กลับเกิดรอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำให้เกมการเมืองยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อน...ยิ่งขึ้นไปอีก

จากความล้มเหลวและผิดพลาดในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล ทั้งในเรื่องการนำเข้าวัคซีน การฉีดวัคซีน ที่ต่ำกว่าเป้า ความปั่นป่วนของระบบสาธารณสุข ฯลฯ ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูง มีคนคาบ้านและข้างถนน สร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมเป็นอย่ามาก

จากปัญหาดังกล่าวที่หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลหมดสภาพโดยสิ้นเชิง จึงมีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่บิ๊กตู่ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป โดยไม่สนใจแรงกดดันใดๆ ทั้งสิ้น

ในเดือนที่แล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงประกาศว่า จะเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ภายในเดือนสิงหาคม เพื่อใช้กลไกรัฐสภาเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ กลางสภา

แต่การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า พรรคร่วมรัฐบาล อย่างภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ เป็นสำคัญ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. ภูมิใจไทย กับประชาธิปัตย์ เงื่อนไขสำคัญในการเปลี่ยนม้ากลางศึก

การเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ กลางสภา จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่โหวตไว้วางใจให้นายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในการร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด19 โดยตรงนัก ต่างกับภูมิใจไทย ที่นายอนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรค เป็น รมว.สาธารณสุข จึงสามารถใช้ข้ออ้างหล่อๆ ในเรื่องความล้มเหลวของบิ๊กตู่ในการแก้ปัญหาโควิด มาเป็นเหตุผล โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ หรืองดออกเสียงได้

แต่เท่าที่เช็กท่าทีแล้ว ยากที่ประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเช่นนั้น เพราะคงประเมินแล้วว่า ถึงแม้ในเวลานี้บ้านเมืองจะเสียงหายยับเยิน แต่ในแง่ของสรรพกำลังนั้น กลุ่มอำนาจที่หนุนบิ๊กตู่ยังแน่นปึ้ก ที่สำคัญยังเสียง 250 ส.ว. ในสภาการันตี

พรรคประชาธิปัตย์คงชั่งน้ำหนักแล้วว่า ถึงบิ๊กตู่ลาออก คนในเครือข่ายก็สามารถขึ้นเป็นนายกได้ โดยใช้กลไกนายกฯ นอกบัญชี หรือถ้ายุบสภา แม้พลังประชารัฐจะไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่อย่างน้อยๆ ก็มี 250 เสียง ส.ว. ตุนไว้แล้วในการโหวตให้บิ๊กตู่ หรือคนในเครือข่ายเป็นนายกฯ ในรัฐบาลต่อไป

ส่วนพรรคภูมิใจไทย แม้ที่ผ่านมาจะกระทบกระทั่งกับพรรคแกนนำรัฐบาลบ้าง แต่ก็อยู่ระดับเคลียร์กันได้ ไม่ถึงขั้นแตกหักต้องแยกทางกันเดิน รวมถึงสถานภาพพรรคร่วมรัฐบาล เบอร์ 2 ก็ทำให้ภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองในระดับที่สูง จึงเป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน ที่ภูมิใจไทยจะไม่โหวตไว้วางใจบิ๊กตู่

อนุทิน ชาญวีระกูล

2. จับตารอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เอาเข้าจริงๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็รู้อยู่เต็มแหละว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นไปได้ยากที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อย่างน้อยๆ ก็ถือว่าเป็นโอกาสทองในการขยายแผลรัฐบาลที่กำลังอยู่ในสภาพร่อแร่ ให้อาการหนักยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ในช่วงที่พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องสมัครสมานสามัคคีเพื่อวางแผนบดขยี้บิ๊กตู่ให้เละคาสภา ก็เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล จากการประชุมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการโอนงบประมาณที่ปรับลดได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เข้างบกลาง เพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย และพยายามทักท้วง พร้อมชี้ให้เห็นว่า นี่คือการตีเช็คเปล่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่ามี กมธ. เห็นด้วย 35 ต่อ 7 และงดออกเสียง 3 เสียง โดยฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย กมธ.ของพรรคก้าวไกล และ กมธ.ของพรรคประชาชาติ ส่วน กมธ.ของพรรคเพื่อไทย กลับมีมติเห็นด้วย ทำพรรคก้าวไกลเกิดข้อกังขา รวมถึงตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล  

และรอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งนี้ มีท่าทีที่จะลุกลาม เพราะทั้งฝั่งก้าวไกลก็เดินหน้าฟาดไม่ยั้ง ส่วนเพื่อไทย ก็ทั้งแถลงข่าว ทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เพื่อยืนยันว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่ ไม่ได้มีใจเป็นอื่น

และทั้งหมดนี้ ก็คือเงื่อนไขสำคัญต่างๆ ในการอภิปรายไม่วางวางใจ ที่จะทำให้บิ๊กตู่ลงจากตำแหน่งได้หรือไม่ รวมถึงการขยายแผลในช่วงที่รัฐบาลกำลังบอบช้ำ จะจัดหนักจัดเต็มได้อย่างถึงพริกถึงขิงเพียงไร ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

พรรคก้าวไกล

related