svasdssvasds

ญี่ปุ่นรายงาน อัตรา ฆ่าตัวตาย ไทยพุ่ง จากปัญหาหนี้สิน ภัยแล้ง และโควิด-19 ระบาด

ญี่ปุ่นรายงาน อัตรา ฆ่าตัวตาย ไทยพุ่ง จากปัญหาหนี้สิน ภัยแล้ง และโควิด-19 ระบาด

สำนักข่าวญี่ปุ่น เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย อัตรา ฆ่าตัวตาย ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น จากปัญหาหนี้สิน ภัยแล้ง และการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่กระทบทุกภาคส่วน

สำนักข่าว นิคเคอิ ของญี่ปุ่นรายงาน ข่าวการ ฆ่าตัวตาย ในประเทศไทยกลายเป็นข่าวที่คนคุ้นชินในช่วงปีที่ผ่านมา

บทความยกตัวอย่าง ข่าวการ ฆ่าตัวตาย ของชายชาวนครปฐม วัย 32 ปี เพราะปัญหาหนี้สิน ข่าวการฆ่าตัวตายของตัวแทนขายรถยนต์มือสอง ในพิษณุโลก ที่ปลิดชีวิตตัวเองพร้อมครอบครัว เพราะเป็นหนี้สินจากธุรกิจราว 10 ล้านบาท และข่าวการฆ่าตัวตายของชายวัย 56 ปีในสมุทรสาคร เพราะปัญหาหนี้สินเช่นกัน

ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเผย ประเทศไทยมีอัตรา ฆ่าตัวตาย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือถึง 14.4 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่สถานการณ์จะดีขึ้น อย่างน้อย เมื่อเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางและชั้นแรงงาน ยังต้องเผชิญกับมรสุมปัญหา หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง โรงงานที่ปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ภัยแล้ง ฯลฯ

และตอนนี้ ปัญหาต่างๆ ถูกทับถมด้วยผลกระทบจากการระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ปี 2019 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยเติบโตเพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าอัตราการเติบโตปีนี้จะยิ่งต่ำลงอีก อยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แหล่งข่าวในสถาบันการเงินของไทย กล่าวกับ นิคเคอิ ว่า สุดท้าย อัตราการเติบโต อาจเหลือแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นรายงาน อัตรา ฆ่าตัวตาย ไทยพุ่ง จากปัญหาหนี้สิน ภัยแล้ง และโควิด-19 ระบาด

บทความอ้างรายงานธนาคารโลก ได้บ่งชี้ถึงรากลึกปัญหาเศรษฐกิจไทย ดัชนีต่างๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลทหาร ถือเป็นยาขมสำหรับนายพลที่นำรัฐบาลหนุนทหาร ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม หลังจากที่อัตราการเติบโตของไทยร่วงไปอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ปี 2014 ที่เกิดรัฐประหาร

จากปี 2015 ถึงปี 2018 ข้อมูลธนาคารโลกบ่งชี้ว่า อัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21 เป็น 9.85 เปอร์เซ็นต์ จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.85 ล้านคน เป็นถึงกว่า 6.7 ล้านคน

นอกจากนี้ ความรู้สึกถึง "ความเป็นอยู่ดี" ลดลงทั่วประเทศ ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน "มีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ที่รู้สึกว่า มาตรฐานคุณภาพชีวิต ดีขึ้น"

ภัยแล้งที่มาเยือนประเทศไทยในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด ในขณะที่โรงงานมากมายปิดตัวลง การเกษตรในพื้นที่ชนบทที่แห้งแล้งไม่เพียงพอที่จะเข้ามาทดแทนจำนวนคนตกงาน

บทความอ้าง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรายแรกที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ที่ระบุว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของไทย มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าคนไทยอีก 99 เปอร์เซ็นต์รวมกัน และข้อมูลปี 2017 บ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทางฐานะของไทยอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุด

บทความอ้างนักวิเคราะห์การเงินในกรุงเทพฯ ระบุว่า รัฐบาลทหารได้หันเข้าหากลุ่มคนที่มีอำนาจครอบงำประเทศ ให้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร ด้วยการลดหย่อนภาษี และการปกป้องสถานะผูกขาดในตลาด เริ่มมีการพูดมากขึ้นว่า ประเทศไทยกำลังตกเป็นของคนไม่กี่คน ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และถ้าดูจากประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา สถานการณ์ในไทยไม่เคยที่จะค่อยๆ พัฒนา แต่จะเป็นในลักษณะ การระเบิด

 

related