svasdssvasds

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

ปัจจุบันมีตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมะเร็งที่พบเป็นอับดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก นั่นคือโรคมะเร็งเต้านมถือเป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิง

เพราะผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง ดังนั้นการตรวจค้นหาโรค รวมถึงการรักษาและการฟื้นฟูหลังจากการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

องค์การอนามัยโลกเผยสถานการณ์มะเร็งเต้านมของทั่วโลกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี ส่วนในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลในปี 2565 พบว่าผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 คน โดยเฉลี่ยอายุผู้หญิงไทยที่พบมะเร็งเต้านม ส่วนมากอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 คน รองลงมา คือ อายุ 50-59 ปี จำนวน 12,181 คน และอายุ 40-49 ปี จำนวน 5,177 คน คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ เฉลี่ยวันละ 49 ราย และเสียชีวิตวันละ 13 คน

ในงาน Health and Wealth Expo 2023 ที่ผ่านมา มีการเสวนาสุขภาพในหัวข้อ BREAST CANCER CONTINUUM OF CARE ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ โดย รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม และ พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ ศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา  ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ได้มาให้ความรู้เรื่องและตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม?

รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เผยว่า สาเหตุของมะเร็งเต้านมที่สามารถทราบแน่ชัดมีเพียง 10% ที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม  และอีก 90% ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เราเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกอายุมากกว่า 30 ปี, ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปี หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี, เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก, ภาวะความเครียด และดื่มแอลกอฮอล์ จะเห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยในการเกิดมะเร็งเต้านมทั้งที่เราควบคุมได้และไม่ได้

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

นอกจากนี้ พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ ศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา  ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ยังเผยว่า อีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมคือ โรคอ้วน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะดูจากค่า BMI  คือน้ำหนักเทียบส่วนสูง ถ้า BMI เกินไป 5% ก็จะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม 10% อีกทั้งถ้าเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแล้ว หากเรามีภาวะอ้วนเวลาที่ให้ยาต้านมะเร็งบางอย่างประสิทธิภาพจะลดลง และมีโอกาสมะเร็งกลับเป็นซ้ำมากกว่า

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

หากจำเป็นต้องใช้ยาฮอร์โมนจะมีแนวทางอย่างไร?

ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต ซึ่งหากการที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทน และการใช้ยาคุมกำเนิดที่เป็นระยะเวลานานกว่า 5-10 ปีนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่เพิ่มความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย และพบว่าหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

และเนื่องจากฮอร์โมนทดแทน มีทั้งประโยชน์และอาจเกิดโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานเอง ต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายและวินิจฉัยความเหมาะสมในการใช้เท่านั้น ขณะใช้ฮอร์โมนทดแทนควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรมีการตรวจสุขภาพระหว่างรับประทานยาร่วมด้วย

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากน้อยแค่ไหน?

ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีเอทานอล มากกว่า 10 กรัม/วัน ทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นถึง 10% เพราะทำให้ความสามารถของการทำงานของตับลดลง สูญเสียการควบคุมปริมาณเอสโตรเจนในร่างกาย แนะนำ ถ้าอยากลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านม สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งเราสามารถทำได้ดังนี้ เลิก/ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์

  • อารมณ์

แม้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบนั้น สามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานและปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายได้

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม สิ่งสำคัญที่ช่วยให้รู้ก่อน แก้ได้ก่อน

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จะช่วยทำให้พบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งการตรวจพบในระยะเริ่มต้นทำให้เพิ่มโอกาสในการรักษา และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า คำถามต่อมาที่หลายคนสงสัยคือการตรวจเต้านม ควรเริ่มตรวจตั้งแต่ตอนไหน? วิธีการตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจเต้านม  จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

  • กลุ่มผู้หญิงทั่วไป กลุ่มผู้หญิงทั่วไปจะเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งและการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยแมมโมแกรมอัลตราซาวนด์จะเริ่มตรวจในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยง  เช่น มีประวัติครอบครัว มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ หรือมีประวัติการฉายแสงที่หน้าอกมาก่อน จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งในช่วงอายุที่เร็วขึ้น โดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองในอายุ 20 ปี และการตรวจเต้าโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านมทุก 3 ปีส่วนการตรวจด้วยแมมโมแกรมอัลตราซาวนด์ก็จะเร็วขึ้นที่อายุ 30 ปี

 

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม มีกี่วิธี?

การรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของโรคมะเร็ง ตรงจุดเฉพาะบุคคล และอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาหลัก ประกอบด้วย การผ่าตัดเต้านม และการผ่าตัดหาต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
  • ฉายแสงหรือรังสีรักษา (Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีเข้าไปบริเวณเต้านมและหน้าอกเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับเป็นซ้ำ มักจะเป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมหรือใช้เป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองด้วย
  • ใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการให้ยาทำลายเซลล์มะเร็ง อาจให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง
  • ใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) เป็นการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ต้องผ่านการส่งตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อน หากตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมนจึงจะสามารถใช้ยาประเภทนี้รักษาได้ และต้องทานยาต่อเนื่อง 5-10 ปี
  • ใช้ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยยาจะมีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องผ่านการตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อนเช่นกัน
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการให้ยาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันนี้ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะใช้ในมะเร็งเต้านมบางชนิดเท่านั้น

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่

รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา เผยกว่าปัจจุบันมีการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่เรียกว่า  Oncoplastic Surgery แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้า เช่น การผ่าตัดย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับ หรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้างให้สมดุลกัน และการผ่าตัดแบบตัดเต้านมแล้วทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast reconstruction) ขึ้นมาใหม่แทนเต้านมเดิมที่ตัดออกไป

  • การผ่าตัดแบบเสริมสร้างเต้านม

เทคนิคการตัดเต้านม จะต่างจากการตัดเต้านมแบบปกติโดยจะตัดออกเฉพาะผิวหนังที่อยู่ชิดกับมะเร็ง หรือสงวนผิวหนังเดิมยกเว้นหัวนม (Skin sparing Mastectomy) หรือสงวนทั้งผิวหนังและหัวนม (Nipple sparing mastectomy) การทำตัดเต้านมด้วยเทคนิคนี้จะทำให้เพิ่มความสวยงามของเต้านมได้เป็นอย่างมาก

  • เทคนิคการเสริมเต้านม

การเสริมเต้านมด้วยเนื้อตนเอง (Autogenous Breast reconstruction) ที่นิยมคือใช้เนื้อบริเวณท้องน้อย (TRAM flap reconstruction) หรือเนื้อที่หลัง (LD flap reconstruction) ย้ายมาทำเต้านมใหม่ การผ่าตัดชนิดนี้ ข้อดีคือ เต้านมใหม่ที่ได้สัมผัสจะได้ใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นเนื้อของผู้ป่วยเอง ความปลอดภัยในระยะยาวจะสูงมาก แต่ข้อเสีย คือใช้เวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน ประมาณ 4-6 ชั่วโมง และมีแผลผ่าตัดที่อื่นด้วย

  • การเสริมเต้านมด้วยการใช้ถุงซิลิโคน (Implant-base Breast reconstruction)

วิธีนี้สามารถนำถุงซิลิโคนแทนเต้านมที่ถูกตัดไป โดยถุงซิลิโคนมีรูปทรงหลายแบบให้เลือกเพื่อให้เต้านมมีรูปทรงตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีการนำเนื้อเยื่อเทียม ADM (Acellular dermal matrix) มาคลุมถุงซิลิโคนร่วมกับกล้ามเนื้อ ทำให้รูปทรงเต้านมมีความสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เต้านมมีความสวยงามมากขึ้น และลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด

ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ที่ รพ.ไทยนครินทร์ ทั้งป้องกัน ค้นหา ฟื้นฟู

‘ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์’ ดูแลครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’

‘ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์’ ดูแลรักษาครบทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดกรองไปจนถึงการฟื้นฟูหลังการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งที่ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล AACI (American Accreditation Commission International) ด้านมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมั่นใจได้ถึงคุณภาพการรักษา  

โดย AACI เป็นระบบรองรับคุณภาพตามมาตรฐานสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นมาตรฐานสากลเดียวใน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานการบริการด้านสุขภาพที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และเน้นย้ำในเรื่องของความปลอดภัย สวัสดิภาพ คุณภาพชีวิต และคุณภาพการดูแล โดยมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยที่ผู้เข้าใช้บริการสถานพยาบาลนั้น ๆ จะได้รับในเรื่องของการรักษาที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนการให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งการให้คำแนะนำก่อน-หลังการรักษา หรือการจ่ายยา โดยกระบวนการทั้งหมดเหล่านี้จะต้องมีประสิทธิภาพและทำประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ที่มาเข้าใช้บริการ