svasdssvasds

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

พารู้จัก “โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” ขับเคลื่อนมุ่งเป้าการใช้นวัตกรรม เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี เพื่อ Scale up สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร เน้น 4 เป้าปัง ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน

ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของ “โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” กับการร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์และสามเณร ภายใต้ชื่อโครงการ การพัฒนาผู้นำทางสุขภาพต้นแบบ สงฆ์ไทยไกลโรค “พระสงฆ์นักสื่อสารสุขภาวะ” และการสื่อสารรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะแด่พระสงฆ์โดยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งดำเนินงานโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินัน บุญภาพ คอมมอน เป็นหัวหน้าโครงการ

โครงการสงฆ์ไทยได้มีการจัดงานแถลงข่าว สงฆ์ไทยไกลโรค สู่ทศวรรษที่ 2 และเปิดตัวโครงการประกวดการใช้ เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ วัดยานนาวา พระอารามหลวง โดยได้รับความเมตตาจาก พระธรรมวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา พระอารามหลวง เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งภายในงานช่วงเช้ามีการเสวนาหัวข้อ จากนวัตกรรมเณรกล้าโภชนาดี สู่วิถีโรงเรียนต้นแบบสุขภาพสามเณร

โดยคณะวิทยากรทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ ประกอบด้วย พระมหาวิจิตร กลยาณจิตโต ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม เขต 1 ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ผู้ก่อตั้งโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคและหัวหน้าโครงการเณรกล้าโภชนาดี คุณปัทมาภรณ์ อักษรชู หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมโภชนาการวัยเรียนและวัยรุ่น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และสามเณรอภิวัฒน์ สัมพันธมาศ จากโรงเรียนพระปริยัติธรรมพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา พระอารามหลวง ซึ่งเป็นวัดต้นแบบที่โครงการใช้เป็นพื้นที่ในการออกแบบทดลองการใช้เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดีทั้งนี้ ในการเสวนา ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและบุกเบิกโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ได้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพของสามเณรในประเทศไทยว่า

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

“จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า สามเณรอ้วนกว่าเด็กชายไทยถึง 51% ส่วนพระสงฆ์อ้วนกว่าชายไทย 23% ดังนั้น ปัญหาของสามเณรมีมากกว่าพระสงฆ์ เนื่องจาก สามเณรฉันผักน้อยเกิน เมินนมวัว รัวน้ำหวาน กำลังงานถดถอย และที่สำคัญสามเณรไม่ได้รับนมโรงเรียนเหมือนเด็กในโรงเรียนทั่วไปและไม่มีหลักสูตรโภชนาการเฉพาะของสามเณร ปัจจุบันพบว่า สามเณรเฉลี่ยแล้วฉันผัก 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน ฉันนม 1 ส่วน 3 แก้วต่อวัน แต่ฉันน้ำหวานถึง 1 แก้วครึ่ง และเฉลี่ยออกกำลังกายเพียง 36 นาทีต่อวัน ซึ่งในเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน”

เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ได้รับการพัฒนามาจากงานวิจัยของโครงการฯ โดย ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช อธิบายว่า ได้ใช้หลักการออกแบบ 4 เป้าปัง เพื่อสุขภาพสามเณร คือ ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน และสร้างเกมเพื่อชักนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งผลตอบรับจากการใช้สื่อพบว่า สามเณรสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ โดยสามเณรฉันนมวัวเพิ่มขึ้น ฉันน้ำหวานลดลง ฉันผักเพิ่มขึ้น และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น

เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี นับเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการด้านโภชนาการสำหรับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม นำเสนอในรูปแบบ Interactive web-based program จัดทำเป็นสื่อกิจกรรมเสริมการเรียนรู้วิชาสุขศึกษาผ่านทางการกำกับดูแลของพระอาจารย์หรือครูผู้สอนนำไปให้สามเณรในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทดลองเล่นในลักษณะกึ่งเกมการแข่งขัน มีรูปแบบการใช้งานที่ให้สามเณรได้บันทึกพฤติกรรมสุขภาพของตนเองในแต่ละวันเป็นระยะเวลาติดต่อกัน

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

โดยมีสื่อให้ความรู้ แรงบันดาลใจ และระบุเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันและการออกกำลังกาย ข้อมูลที่บันทึกจะถูกคำนวณเป็นคะแนนสะสม มีการให้ความชื่นชมด้วยดาวและถ้วย สามารถจัดระดับของคะแนนสะสมเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาให้แนวทางแก้ไขและเสริมกำลังใจ รวมทั้งยังมีจุดให้เช็คภาวะโภชนาการ บันทึกและติดตามผลเพื่อประโยชน์ของสามเณรและการติดตามโดยพระอาจารย์ที่ดูแลสามเณร โดย เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี นี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล จากการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2023

การดำเนินงานในทศวรรษที่ 2 นี้ โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค มีเป้าหมายในการใช้นวัตกรรม เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี มา Scale up เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร ภายใต้โครงการขยายผลและขับเคลื่อนการนำชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชันเณรกล้า โภชนาดี ไปใช้ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมผ่านภาคี 2 ช่องทาง คือ 1. สำนักโภชนาการและศูนย์อนามัย และ 2. ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนโรงเรียนพระปริยัติธรรมจำนวน 12 โรงเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

ด้านพระมหาวิจิตร กลยาณจิตโต ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม เขต 1 ผู้เป็นวิทยากรร่วมเสวนาและภาคีเครือข่ายการขยายผลชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดี ได้ฝากไว้ว่า

“สามเณรถือว่าเป็นเยาวชนของชาติ ซึ่งเป็นเด็กชายที่ได้รับการเข้าบวชมาเรียนหนังสือ เมื่อมาเรียนหนังสือแล้วสุขภาวะของสามเณรนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ด้านโภชนาการจะต้องทำให้สามเณรจะมีสุขภาวะที่ดี เพราะว่าปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่ญาติโยมถวายก็ดี เรื่องแม่ครัวทำอาหารก็ดี เรื่องนมที่เป็นโภชนาการก็ดี เรื่องคนที่มาขายของเรื่องน้ำหวานก็ดี ทำอย่างไรถึงจะช่วยกัน ให้สามเณรเหล่านี้สามารถมีภูมิคุ้มกัน รู้จักประมาณในการฉันอาหารและก็ดูแลสุขภาพ

ส่วนสำคัญ คุณโยมทุกท่านควรจะเข้ามาช่วยดูแล อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับสามเณร อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามเณร บางอย่างก็ฉันเพราะโยมถวาย แต่ว่าไม่มีประโยชน์ บางอย่างมีประโยชน์โยมก็ไม่ถวาย ทำอย่างไรสามเณรถึงจะมีสุขภาวะที่ดี เพราะฉะนั้นการที่สามเณรมีสุขภาวะที่ดี การเรียนดี การศึกษาดี คนเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญต่อพระศาสนา เป็นกำลังของประเทศชาติ อนาคตก็จะดี ขอเจริญพร”

“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร

ส่วนคุณปัทมาภรณ์ อักษรชู หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมโภชนาการวัยเรียนและวัยรุ่น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ซึ่งเป็นภาคีสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนการขยายผลชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดี ได้ฝากไว้ว่า

“พระสงฆ์หรือสามเณร เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของชุนชนและประชาชนทั่วไป การดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ในด้านอาหารโภชนาการและกิจกรรม การออกกำลังกายก็ควรที่จะเหมาะสม ประเด็นสำคัญในการจัดเตรียมอาหาร ไม่ควรที่จะหวานและเค็มจนเกินไป เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาในอนาคต ฉะนั้นสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าท่านอาจจะเป็นต้นแบบด้านโภชนาการ และด้านสุขภาพที่ดีสำหรับประชาชนได้ค่ะ”

ท้ายสุดนี้ ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ได้ฝากไว้ว่า

“เป้าหมายของโครงการคือ อยากได้โรงเรียนต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เป็นการสร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเสริมสร้างโภชนาการให้กับสามเณร โดยสิ่งที่ต้องการฝากไปยังสังคม คือ สามเณรควรได้รับการส่งเสริมด้านนโยบายจากมหาเถรสมาคม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ในการจัดหานมวัว ผัก สถานที่ออกกำลัง และจัดการเรื่องการเข้าถึงน้ำหวานของสามเณร”

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีการจัดอบรมถวายความรู้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้นำทางสุขภาพต้นแบบ สงฆ์ไทยไกลโรค “สามเณรนักสื่อสารสุขภาวะ” โดยเป็นการถวายความรู้แด่สามเณรเกี่ยวกับ ความรอบรู้ทางสุขภาวะสำหรับสามเณร ตาม 4 เป้าปังที่ว่า ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน การบรรยายหัวข้อ กายะ กิจกรรม สำคัญอย่างไร และกิจกรรมตามฐานสถานีสุขภาพ อาทิ การอ่านฉลากเครื่องดื่มและอาหาร การทดสอบสมรรถะทางกายของสามเณร

นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติทักษะการออกแบบและผลิตวิดีโอสั้น สนุกอย่างมีสาระ เพื่อสื่อสารสุขภาพแด่สังคม และการฝึกปฏิบัติการสื่อสารดำเนินรายการหน้ากล้องสำหรับสามเณร โดยมีแต่ละทีมของสามเณรมีทีมพี่เลี้ยงจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคคอยให้คำแนะนำ เพื่อผลิตคลิปวิดีโอสั้นในการนำมาสื่อสารบอกต่อทางสุขภาพและเผยแพร่สู่สังคม สร้างการบอกต่อชี้นำทางสุขภาพ (Health Advocacy) ที่มีพระสงฆ์และสามเณรเป็นต้นแบบสุขภาวะ ตามหลักการในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่ว่า พระสงฆ์แข็งแรง วัด มั่นคง ชุมชนเป็นสุข โดยมีพระสงฆ์และสามเณรเป็นผู้นำทางสุขภาพของชุมชน

ผู้สนใจสามารถเข้าใช้เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ได้ทาง https://www.sonkthaiglairok.com/เณรกล้าโภชนาดี และร่วมรับชมคลิปวิดีโอสั้นสื่อสารสุขภาวะผลงานของพระสงฆ์และสามเณรนักสื่อสารสุขภาวะได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของโครงการ  TikTok @sonkthaiklairok สงฆ์ไทยไกลโรค ส่งเสริมโภชนปัญญา ร่วมพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์

เว็บไซต์โครงการ สงฆ์ไทยไกลโรค https://www.sonkthaiglairok.com นางสาวกัญญาณัฐ สุวรรณศิริเขต ผู้ประสานงาน 081 376 3327 อีเมล [email protected]

related