ไขปริศนา ทำไมคนถึงกลัว คำทำนาย “แผ่นดินไหวญี่ปุ่น” ของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง แม้คำทำนายดังกล่าวไม่มีมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันยังไม่สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวและคำทำนายที่ถูกแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียล เกี่ยวกับคำพยากรณ์จากหนังสือมังงะ "อนาคตที่ฉันเห็น" ที่ทำนายว่า แผ่นดินไหวจะเขย่าญี่ปุ่น วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ไปทั่วโลก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ นักท่องเที่ยวเริ่มยกเลิก รวมถึงทบทวนอีกครั้ง ว่าจะไปญี่ปุ่นหรือไม่ โดยสายการบินอย่าง Greater Bay Airlines ถึงกับต้องลดจำนวนเที่ยวบินจากฮ่องกงไปญี่ปุ่นลง 3-4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เนื่องจากความต้องการที่ลดลงอย่างมาก โดยยอดจองตั๋วจากฮ่องกงลดลงถึง 30% และบางเส้นทางเช่น โทกุชิมะ มียอดจองลดลงถึง 50% ในเดือนพฤษภาคม
คาดการณ์ว่า อาจทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการสูญเสียอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอยู่ที่ 5.6 แสนล้านเยน หรือกว่า 1 แสนล้านบาท
จุดเริ่มต้นของกระแสคำพยากรณ์นี้มาจาก เรียว ทัตสึกิ อดีตนักวาดการ์ตูนมังงะหญิงวัย 70 ปี ที่อ้างว่าเธอมี "ความฝันเชิงพยากรณ์" มาเกือบ 50 ปีแล้ว เธอเริ่มบันทึกนิมิตและความฝันของเธอลงในสมุดบันทึกในช่วงต้นทศวรรษ 1980
ต่อมาในปี 1999 เธอได้ตีพิมพ์มังงะชื่อ "อนาคตที่ฉันเห็น" (Watashi ga Mita Mirai หรือ The Future That I Saw) ซึ่งอ้างอิงจากบันทึกความฝันเหล่านั้น
มังงะดังกลายเป็นกระแสโด่งดังหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิถล่มญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 เพราะ บนหน้าปกของมังงะ "อนาคตที่ฉันเห็น" ฉบับปี 1999 มีข้อความระบุว่า "มีนาคม 2011 ภัยพิบัติครั้งใหญ่" ซึ่งตรงกันกับเหตุแผ่นดินไหว 3.11 ทำให้มังงะเรื่องนี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "มังงะพยากรณ์ลวงตา" โดยฉบับที่เลิกพิมพ์ไปแล้วถูกนำมาขายในราคาสูงกว่า 100,000 เยน หรือกว่า 2 หมื่นบาทในการประมูล
ทำให้ "อนาคตที่ฉันเห็น" ยังกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยหนังสือฉบับสมบูรณ์ (ตีพิมพ์ปี 2021) มียอดขายมากกว่า 560,000 เล่ม
อย่างไรก็ตาม เธอได้ปรับเปลี่ยนคำทำนายถึง “วันที่ 5 กรกฎาคม” ผ่านหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในชื่อว่า "Tenshi no Yuigon"
แม้จะไม่ได้ยกเลิกคำทำนาย "หายนะเดือนกรกฎาคม" แต่เธอได้แก้ไขคำกล่าวเกี่ยวกับ "วันที่ 5 กรกฎาคม" ในทำนอง ไม่ได้หมายความว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในวันนี้ (แบบเฉพาะเจาะจง)
พร้อมชี้แจงถึงที่มาของความคลาดเคลื่อน เนื่องจากว่า การระบุวันที่ 5 กรกฎาคม อาจมาจากการถอดความจากการสัมภาษณ์หรือการจดบันทึกจากกองบรรณาธิการ ที่เกิดเป็นหนังสือ "Watashi ga Mita Mirai: Kanzenban" ในเวลาต่อมา
เธอรู้สึกว่า ผลงานที่ออกมา "ไม่ได้เป็นไปตามความตั้งใจ" ของตนเอง แต่เป็นการตีพิมพ์โดยมีเจตนาของสำนักพิมพ์เป็นหลัก
และระบุว่า "วันที่เห็นความฝันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์" ซึ่งเป็นการปฏิเสธการระบุวันที่ที่เฉพาะเจาะจง
หลังจากหนังสือพร้อมคำทำนายถึง “หายนะที่กำลังจะเกิด” กลายเป็นไวรัลในโซเชียล และสร้างความแตกตื่นถึงขั้นนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาญี่ปุ่นนั้น ฝั่งทางการและนักวิชาการก็พยายามออกมาชี้แจง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยยืนยันว่า การทำนายนั้น “ไม่มีมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์” เช่น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง